แพทย์รพ.น่าน ผวา เจอคนไข้“เมาแล้วขับ”ถ่มน้ำลายใส่  


9 เม.ย. 2563 2224 แผนงาน : ศวปถ.& มนป.   


แพทย์รพ.น่าน ผวา เจอคนไข้“เมาแล้วขับ”ถ่มน้ำลายใส่

กลายเป็นทั้งภาระและความกังวลของบุคลากรทางการแพทย์ เมื่อล่าสุดโรงพยาบาลน่าน พบคนไข้เมาแล้วขับ ในสถานการณ์ที่ประกาศภาวะฉุกเฉิน 5 รายต่อเนื่อง ผู้บริหารโรงพยาบาลเปิดเผยว่า นอกจากจะต้องเสียอุปกรณ์และบุคลากรมารักษาคนไข้ประเภททนี้ ทั้งที่กำลังทุ่มเทสรรพกำลังต่อสู้กับโควิด-19 คนไข้บางรายที่อยู่ในอาการเมาค้างและถูกส่งตัวมา ยังมีพฤติกรรมไม่ยอมรับการรักษา โดยถ่มน้ำลายใส่ จนทำให้บุคลากรของโรงพยาบาลกังวลว่าจะติดเชื้อโควิด-19 เพราะคนเหล่านี้ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง

นายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์  รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน ตรวจเยี่ยมผู้ป่วยเมาแล้วขับในห้องพักฟื้นของโรงพยาบาลด้วยตัวเอง พร้อมเก็บข้อมูลพฤติกรรมเพื่อประเมินความเสี่ยงในการรักษาคนไข้ที่มีพฤติกรรมดื่นสุราและขับขี่รถจนเกิดอุบัติเหตุ 

สาเหตุที่ต้องทำเช่นนี้   นายแพทย์พงศ์เทพ เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาลน่าน รับผู้ป่วยเมาแล้วขับ มารักษาต่อเนื่อง 5 ราย ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งมีพฤติกรรมฝ่าฝืนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเคอร์ฟิวและเกิดอุบัติเหตุ ในจำนวนนี้มีทั้งเคสเด็กหญิงอายุ 15ปี เคสที่ได้รับความกระทบกระเทือนทางสมองจนต้องผ่าตัด  นอกจากจะต้องเสียบุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์มารักษาในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 คนไข้บางรายที่มีพฤติกรรมเมาค้างมา และควบคุมสติไม่ได้ ยังแสดงอาการไม่เหมาะสม โดยการถ่มน้ำลายใส่บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาล จนทำให้หมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ หวาดผวา เพราะคนที่ตั้งวงดื่มกิน ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นพาหะของโควิด-19 

สำหรับผู้ป่วยเมาแล้วขับจนเกิดอุบัติเหตุ 5 รายของโรงพยาบาลน่าน เป็นข้อมูลที่โรงพยาบาลเก็บไว้ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม ถึง 5 เมษายน  โดยทุกรายมีพฤติกรรมตั้งวงดื่มกินสังสรรค์ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำเป็นต้นไป  คนที่ 1 ทางโรงพยาบาลยังไม่ได้เก็บข้อมูลละเอียด เพราะถือเป็นเคสแรก

ส่วนคนที่ 2  มีพฤติกรรมไปดื่มกินบ้านพี่สาว หลังเสร็จก็ขับจักรยานยนต์กลับ และเกิดอาการวูบ แฉลบล้ม  คนที่3  ดื่มเหล้าสังสรรค์กับที่ทำงาน ประสบอุบัติเหตุระหว่างกลับบ้าน  คนที่ 4 เกิดอุบัติเหตุระหว่างไปซื้อเหล้า รถล้มศีรษะกระแทก อาการสาหัส  คนที่ 5 เป็นเด็กหญิงอายุ 15 ปี   ดื่มสุรามาพร้อมกับเพื่อนที่เป็นคนขี่จักรยานยนต์  ก่อนเกิดอุบัติเหตุ แต่ทางโรงพยาบาลไม่มีข้อมูลคนขับขี่      

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน เปรียบเทียบสถิติอุบัติเหตุในช่วงนี้ เมื่อเทียบกับปี 62  มีแนวโน้มลดลง แต่ยังพบว่าสถิติ "เมาแล้วขับ" ยังค่อนข้างสูง ซึ่งในกรณีที่ "ผู้ป่วยเมาแล้วขับ" 1 คน ที่เข้ารับการรักษา สร้างภาระให้บุคลากรทางการแพทย์ ทั้งปัญหา การไม่ให้ความร่วมมือและยังทำให้สูญเสียเวชภัณฑ์ทั้งชุด PPE และ หน้ากาก N95 โดยไม่จำเป็น

ส่วนข้อเสนอในการแก้ปัญหา นพ.ธนะพงศ์ มองว่า หากมีการออกคำสั่ง หรือข้อกำหนด ห้ามขายสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือ ช่วงสถานการณ์โควิด-19 จะช่วยลดอุบัติเหตุได้ถึง 2 ใน 3 หรือกว่าร้อยละ 70 จึงควรยกระดับด่านตรวจโควิด ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นด่านตรวจแอลกอฮอล์ เพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังในอีกทางหนึ่ง 

ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ตอบคำถามระหว่างแถลงสถานการณ์ประจำวัน โดยเน้นย้ำกับประชาชนว่าการดื่มไม่ใช่วัฒนธรรมของเทศกาลสงกรานต์ และไม่อยากให้ดื่มและไปประสบอุบัติเหตุจนกลายเป็นภาระแพทย์ ส่วนการออกคำสั่ง หรือ ข้อกำหนดในการงดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้ว่าจะยังไม่มีข้อกำหนดที่เป็นการบังคับทั่วประเทศ แต่ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด ก็สามารถออกมาตรการ หรือ คำสั่งย่อย มาบังคับได้ตามความเหมาะสม

สามารถกดเข้าไปดู clip vdo ตาม link : https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/123138  นี้ได้เลยครับ

 

© 2018 - www.roadsafetythai.org All rights reserved