ฟังเสียงก่อน…ปิดผับตี 4 อย่าเสี่ยงโดยไร้หลักประกัน...  


4 ธ.ค. 2565 2291 แผนงาน : ศวปถ.& มนป.   


ตลอดช่วง “ฟุตบอลโลก” ทั้งแฟนบอลและนักดื่มต่างคึกคักกันเต็มที่ เพราะไม่เพียงเชียร์ทีมรัก แต่การออกมานั่งดื่มรับบรรยากาศตามสถานบริการต่างๆ กลายเป็นธรรมเนียมที่พบเห็นได้ทั่วไปในช่วงเทศกาลนี้ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมีการดื่มย่อมมีคนเมา และในคนเมาเหล่านี้จำนวนไม่น้อยต้องขับขี่รถกลับบ้าน ใช้ท้องถนนร่วมกับคนอื่นๆ

มีข้อมูลจากการศึกษาของ Alcohol and international football ชี้ให้เห็นพฤติกรรมเชียร์บอลกับความสัมพันธ์อย่างการดื่มพบว่าแฟนบอลมักดื่มตั้งแต่เริ่มจนจบการแข่งขันในวันนั้น ๆ

จากประเด็นดังกล่าวประกอบกับกระแสครึกโครมของการจัด “โซนนิ่ง” ขยายเวลาเปิดสถานบันเทิง จากเดิม 02.00 น. เป็น 04.00 น. นำร่องในพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ ถนนบางลา ภูเก็ต กระบี่ พังงา สมุย เมืองพัทยา และอีก 3 ย่านขาประจำนักท่องราตรีใน กทม. คือ ถนนข้าวสาร ซอยคาวบอย และซอยพัฒน์พงศ์ ส่งผลให้เกิดข้อห่วงใยปัญหาดื่มขับในสังคมไทยอาจรุนแรงขึ้น

สังเกตจากฐานข้อมูลปัจจุบันที่สะท้อนแนวโน้มอนาคต โดยเฉพาะ “ห้วงเวลา” เกิดอุบัติเหตุดื่มขับมากสุดคือช่วง “กลางคืน” การขยายเวลาให้เปิดสถานบันเทิงนานขึ้น จึงยิ่งเพิ่มความเสี่ยงอย่างเลี่ยงไม่ได้

ปัจจุบันข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ยวันละ 1,000-1,200 คน ในจำนวนนี้พบปริมาณแอลกอฮอล์คิดเป็นร้อยละ 15-20 อุบัติเหตุจากการดื่มขับจึงเฉลี่ยวันละ 150-200 คน โดย 3 ใน 4 เกิดขึ้นเวลากลางคืน เฉลี่ยคืนละ 112 คน

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบสถิติคดีดื่มขับยังพบว่าใน 8 จังหวัดเป้าหมายที่จะเปิดสถานบริการถึงตี 4 (ภูเก็ต, กระบี่, พังงา, เกาะสมุย, พัทยา, หัวหิน, เชียงใหม่, กทม.) มี 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี เชียงใหม่ และกทม. ติดอันดับมีคดีดื่มขับสูงสุด 15 อันดับแรกของประเทศในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา

โดยในจำนวนดื่มขับช่วงสงกรานต์ ปี 65 ทั้งหมด 15,451 คดี 3 จังหวัดเป้าหมายนำร่องมีคดีดื่มขับรวมกันกว่า 1,600 คดี คิดเป็นร้อยละ 10 ของคดีดื่มขับทั่วประเทศ แยกเป็น ชลบุรี 597 คดี เชียงใหม่ 571 คดี และ กทม. 432 คดี

ในขณะที่ความสูญเสียทางเศรษฐกิจรายจังหวัด มีผลการศึกษาจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในปี 62 พบว่ากลุ่มจังหวัดที่มีขนาดเศรษฐกิจสูง มีหลายจังหวัดที่ต้องสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจจากอุบัติเหตุทางถนน (เจ็บสาหัส/เสียชีวิต) สูงเช่นกัน อาทิ กทม. 27,012 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.47 ของ GDP ชลบุรี 20,729 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.96 ของจีดีพี

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) สะท้อนข้อห่วงใยการขยายเวลาปิดสถานบริการถึงตี 4 โดยเฉพาะปริมาณการดื่ม ด้วยเวลาที่มีมากขึ้นทำให้เมามากขึ้น ประกอบกับปัจจุบันการบังคับใช้กฎหมายของไทยยังมีช่องโหว่ทั้งด่านตรวจ รวมถึงโทษเมาขับ ซึ่งแม้ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯฉบับใหม่จะแก้ไขให้เพิ่มโทษ “จำคุกและปรับด้วยเสมอ” กับกลุ่มเมาขับผิดซ้ำ ล่าสุดก็ยังไม่เห็นอิทธิฤทธิ์กฎหมายใหม่

ดังนั้น มองว่าหากจะเดินหน้าขยายเวลาที่อาจเพิ่มความเสี่ยงก็ควรสร้างหลักประกันให้คนในสังคมด้วย โดยรัฐควรเตรียมความพร้อม ยกตัวอย่างการกวดขันบังคับใช้กฎหมาย เช่น มีด่านตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ตลอดคืน โดยเฉพาะหลังเที่ยงคืน-เช้า ที่คาดว่าเป็นช่วงที่สกัดคนเมาขับได้เพิ่มร้อยละ 30-50 และช่วยลดผลกระทบได้วันละ 10 คน หรือกฎหมายเมาขับผิดซ้ำก็ต้องทำให้เห็นตัวอย่างว่าบังคับใช้จริง

จากสถิติการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการดื่มขับ ของศูนย์ข้อมูลกลางด้านการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระหว่างปี 60-62 พบอุบัติเหตุทางถนนช่วงกลางคืน (เวลา 18.00-06.00 น.) มากกว่าช่วงกลางวัน (06.00-17.00 น.) คิดเป็นร้อยละ 75 เมื่อเทียบกับข้อมูลการบังคับใช้กฎหมายและการเสียชีวิตจากพฤติกรรมเสี่ยงในช่วงเทศกาล 7 วันอันตรายของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนปี 65 พบว่า การบังคับใช้กฎหมายที่ลดลงร้อยละ 3.14  เพิ่มอัตราการเสียชีวิตถึงร้อยละ 2.51

ทั้งนี้ ในต่างประเทศพบประสิทธิภาพที่ทำให้คนกลัวคือให้คนที่ขับขี่มีโอกาสเจอด่านตรวจอย่างน้อยปีละ 1-1.5 ครั้ง ซึ่งเรายังไม่มี ซ้ำเมื่อเกิดความสูญเสียกระบวนการเยียวยายังค่อนข้างจำกัด หากฟ้องร้องในกระบวนการศาลก็ใช้เวลาสู้คดีนานเฉลี่ย 9-10 ปี ทำให้ต้องทุกข์ทั้งจากความสูญเสียและทุกข์เพราะคดีที่ยาวนาน ดังนั้น หากรัฐจะเดินหน้าก็ควรสร้างหลักประกันความมั่นใจให้สังคมก่อน.

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/

© 2018 - www.roadsafetythai.org All rights reserved