มาตรฐานการตรวจหา“แอลกอฮอล์”ผู้ขับขี่ โดยเฉพาะ“หลังเกิดอุบัติเหตุในทุกกรณี”หลักฐานดังกล่าวควรเป็นหนึ่งข้อปฏิบัติพื้นฐานที่ช่วยให้เห็นข้อเท็จจริงทางคดีมากขึ้น  


30 มี.ค. 2564 2729 แผนงาน : ศวปถ.& มนป.   


สัปดาห์ที่ผ่านมาหลังอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับนักธุรกิจดังซึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัส เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่นำมาสู่การถกเถียงถึงปัญหาซ้ำๆเรื่อง“ความไม่แน่นอน”ในข้อปฏิบัติการตรวจหาแอลกอฮอล์คดีอุบัติเหตุ ซึ่งการตรวจ“ทันที”กับ“ภายหลัง”นำไปสู่ผลลัพธ์ที่แตกต่าง และกระทบความเชื่อมั่นต่อสิ่งที่ควรเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน เมื่อการตรวจหาไม่เพียงพิสูจน์ข้อเท็จจริงในสำนวน แต่ยังช่วยค้นหา“สาเหตุแท้จริง”มาประกอบการพิจารณาเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดด้วย

มีข้อคิดเห็นน่าสนใจจาก นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน(ศวปถ.) สะท้อนถึง“ความจำเป็น”ในการเก็บหลักฐานทันทีทุกคดีอุบัติเหตุ แม้เป็นเรื่องดีที่มองความปลอดภัยผู้บาดเจ็บเป็นอันดับแรก แต่ในข้อเท็จจริงการรักษาสามารถทำควบคู่กับการตรวจพิสูจน์ปริมาณแอลกอฮอล์ได้ เพราะในกรณีผู้บาดเจ็บไม่รู้สึกตัวถูกส่งเข้าห้องฉุกเฉิน แพทย์จะเปิดเส้นเจาะเลือดให้น้ำเกลืออยู่แล้ว ในรายบาดเจ็บรุนแรงต้องส่งตัวอย่างเลือดไปตรวจหมู่เลือดเผื่อไว้หากจำเป็นต้องให้เลือด ในขั้นตอนนี้พนักงานสอบสวนสามารถแจ้งให้แพทย์เก็บเลือดประมาณ 5 ซีซี ไว้ใช้ภายหลัง

เพราะทุก 1 ชั่วโมง ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจะลดลง 15 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เมื่อผู้บาดเจ็บฟื้นจึงค่อยแจ้งขอตรวจ ซึ่งจะปฏิเสธหรือยอมรับก็เป็นสิทธิที่ทำได้ ย้ำว่าข้อปฏิบัตินี้ทำไปด้วยกันได้โดยไม่กระทบกับการรักษา

“นอกเหนือตัวอย่างเลือด การหาข้อมูลแวดล้อมในลักษณะไทม์ไลน์ย้อนหลัง ก่อนเกิดเหตุอยู่ที่ใด ดูกล้องวงจรปิด พูดคุยกับพยานแวดล้อม เพื่อนำมาประกอบกัน การทำข้อมูลเหล่านี้ให้ชัดเจน โปร่งใสแต่ต้น ดีกว่าต้องมาตอบข้อสงสัยภายหลัง” ไม่ว่าจะมีคู่กรณีหรือไม่ การตรวจหาแอลกอฮอล์ควรปฏิบัติเป็นมาตรฐาน ผู้จัดการ ศวปถ. เผยคดีอุบัติเหตุ โดยเฉพาะเมาขับ 1 ใน 3 ไม่มีคู่กรณี แม้ไม่มีคู่กรณีแต่มีผู้เสียหาย หรือทรัพย์สินเสียหาย หากจะละเว้นที่ไม่มีคู่กรณีก็อาจกระทบกับการหาแนวทางป้องกันที่ตรงจุด

ทั้งนี้ ยกตัวอย่างเหตุรถเสียหลักพลิกคว่ำชนต้นไม้ภายในม.ขอนแก่นเมื่อไม่นานนี้ นอกจากใช้ความเร็ว มีการตรวจพบว่าคนขับปริมาณแอลกอฮอล์สูงเกินกฎหมายกำหนด การตรวจวัดอย่างเป็นมาตรฐานส่งผลให้สำนวนคดีชัดเจนขึ้นแม้ไม่มีคู่กรณี

“เมื่อเกิดเหตุแล้วได้รู้ความจริงเป็นผลดีต่อสาธารณะ เพราะทำให้สังคมรู้สาเหตุที่แท้จริงว่าต้องแก้จุดใดบ้าง เมาขับ หรือกายภาพถนน การไม่ทำข้อมูลให้ประจักษ์ ไม่ตรวจเลยจะไม่รู้ ผลที่ตามมาคือสังคมเสียโอกาสได้ความจริงและแก้ได้ตรงจุด ซึ่งในจุดนั้นอาจเป็นจุดอันตรายก็ได้”

อย่างไรก็ตาม ช่องโหว่การปฏิบัติในปัจจุบันอยู่ระหว่างการผลักดันแก้ไข ด้วยการเสนอแก้ พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 (ฉบับที่ 13) มาตรา 6 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 43 ทวิ/1 ในกรณีที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นและมีเหตุอันเชื่อได้ว่า ผู้ขับขี่หรือบุคคลที่อาจเป็นผู้ขับขี่ ได้กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง หากบุคคลดังกล่าวอยู่ในภาวะหมดสติหรือได้รับอันตรายแก่กายจนไม่อาจให้ความยินยอมในการตรวจสอบการมีสารอยู่ในร่างกายตามมาตรา 43 ทวิ วรรคสอง ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจขอให้แพทย์ที่เกี่ยวข้องทำการพิสูจน์บุคคลดังกล่าว ทั้งนั้น ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด

การตรวจพิสูจน์ของแพทย์ตามวรรคหนึ่ง ให้ทำได้เท่าที่จำเป็นและสมควร โดยเก็บตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ หรือของเสียอย่างอื่นจากร่างกายของบุคคลดังกล่าวด้วยวิธีทางการแพทย์และใช้วิธีการที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งจะต้องไม่เป็นอันตรายอย่างอื่น ต่อร่างกายหรืออนามัยของบุคคลนั้น

ค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์ตามวรรคหนึ่ง ให้สั่งจ่ายจากงบประมาณตามระเบียบที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง

ผู้จัดการ ศวปถ. ทิ้งท้ายพ.ร.บ.ดังกล่าวอยู่ระหว่างพิจารณาวาระ 2 จากเดิมผู้บาดเจ็บไม่รู้สึกตัวอาจหลุดรอดการตรวจหาแอลกอฮอล์ เพราะไม่กล้าเจาะโดยพลการ แต่หากกฎหมายแก้ไขผ่านคาดหวังว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีข้อกำหนดเป็นแนวปฏิบัติชัดเจนกับพนักงานสอบสวนที่ต้องตรวจหาแอลกอฮอล์กับผู้ขับขี่ทั้งบาดเจ็บรุนแรง ไม่รู้สึกตัว หรือเสียชีวิตทุกกรณี หลังแต่ละปีมีเฉลี่ย 20,000-30,000 ราย เล็ดรอดไป ที่สำคัญต้องกำหนดให้ชัดว่าเป็นหน้าที่พนักงานสอบสวนในการตรวจหา หากละเว้นโดยไม่มีเหตุอันควรเข้าข่ายความผิดมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ที่มา: www.dailynews.co.th

© 2018 - www.roadsafetythai.org All rights reserved