ข้ามถนนได้อย่างปลอดภัย เรื่องที่ผู้นำต้อง ทำ มากกว่า การสั่ง  


24 ม.ค. 2565 2252 แผนงาน : ศวปถ.& มนป.   


"...เพื่อมิให้คนในสังคมต้องพบกับความสูญเสียเหมือนที่ครอบครัวของคุณหมอกระต่ายและอีกหลายครอบครัวต้องเผชิญกับความสูญเสียในสิ่งที่ป้องกันได้ ผู้นำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสร้างระบบแห่งความปลอดภัยที่เป็นหลักประกันให้กับสังคม มากกว่าการสั่งการ..."

อีกเรื่องเศร้าของสังคมจากข่าวคุณหมอกระต่าย แพทย์หญิงวราลัคน์ ถูกจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ที่ขี่โดยตำรวจชน ขณะข้ามทางม้าลายหน้าสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ เสียชีวิตในบ่ายวันที่ 21 มกราคม 2565 มีคำถามตามมามากมายเรื่องความปลอดภัยของคนไทยกับข้ามถนน โดยหนึ่งในนั้นเป็นเพื่อนร่วมรุ่นแพทย์รามาธิบดี คือ ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการนิติเวชศาสตร์ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า “ถ้ามีโอกาสได้เข้าไปเกี่ยวกับกฎหมายจราจรในไทย ก็อยากผลักดันให้ทางม้าลายในไทย เป็นทางม้าลายจริงๆ ให้คนขับรถต้องหยุดให้ข้ามจริงๆ เหมือนญี่ปุ่น ไม่ใช่แบบนี้เลย ที่ทำให้อนาคตคนดีๆ คนหนึ่งต้องเสียไป” https://www.thairath.co.th/news/society/2294695

แต่ละปีมีคนไทยและสังคมจำนวนมากต้องได้รับผลกระทบจากความสูญเสียจากการข้ามถนน ข้อมูลผู้เสียชิวิตจากอุบัติเหตุทางถนน กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าเป็นคนเดินถนนร้อยละ 6-8 (หรือเฉลี่ย 800-1,000 ราย ในแต่ละปี) และถ้าดูข้อมูลที่รวบรวมโดยสำนักงานสถิติก็พบว่าคนเดินถนน ประสบเหตุถึง 2,500-2,900 ราย/ปี โดยกว่าหนึ่งในสามอยู่ที่ กทม. (กทม.เกิดเหตุเฉลี่ย 900 ราย/ปี)

การข้ามถนนใน กทม.และเมืองใหญ่ ๆ จะมี “ความเสี่ยง” สำคัญคือ (1) ถนนเป็นลักษณะหลายช่องจราจร เวลาข้ามถนนต้องใช้ระยะเวลาอยู้บนถนนนานและที่สำคัญคือแม้จะมีบางช่องจราจรรถหยุด แต่ช่องจราจรด้านในมักจะไม่หยุด (2) ช่องจราจรด้านในมักจะขับขี่ด้วยความเร็ว (3) เมื่อมีคนข้าม รถในช่องทางซะลอหรือหยุดแต่ช่องจราจรขวาสุดที่ขับขี่ด้วยความเร็วมักไม่ได้ชะลอและอาจมองไม่เห็นกันทั้งสองฝ่ายด้วย ทำให้จุดนี้เป็นอีกจุดอันตรายของการข้ามถนนที่มักจะมีผู้เกิดเหตุและเสียชีวิต
ประกอบกับ หลาย ๆ ทางข้ามแม้จะมี “ไฟบอกเวลาหรือไฟ count down” แต่บางกรณีถ้ามีการตั้งเวลาข้ามที่กระชั้น (เฟสไฟที่สั้น ก็จะเร่งให้คนข้ามต้องข้ามแต่ละช่องจราจรเร็วขึ้น)

ในส่วนปัจจัยร่วมอื่น ๆ ของรถที่หยุดให้คนข้ามอาจจะประสบ เช่น เมื่อชะลอหรือหยุดให้คนข้ามก็ถูกบีบแตรเร่ง หรือจุดที่มีไฟแดง count down แต่คนข้ามไม่รอสัญญาณไฟ ฯลฯ

แต่ละครั้งที่มีข่าวความสูญเสียที่สังคมให้ความสนใจ ผู้นำและหน่วยงานกำกับดูแลก็จะขึงขังขึ้นมา สักพักก็เงียบและกับไปเหมือนเดิม ไม่สามารถสร้างระบบความปลอดภัย (safe system) ที่จะเป็นหลักประกันให้คนในสังคมเชื่อมั่นความปลอดภัย และหลายครั้งของความสูญเสียก็สรุปสั้นๆ เพียงความประมาท เลินเล่อ ขาดจิตสำนึก ฯลฯ หรือด่วนสรุปเพียง “คนขี่หรือคนเดินข้าม” ประมาท แต่ผู้ที่ต้องกำกับหรือดูแลระบบความปลอดภัย ทำไว้ดีแล้ว

คำถามที่ผู้กำกับหรือดูแลระบบต้องตอบ .. อย่างกรณีคุณหมอกระต่ายหรือเคสลักษณะนี้เช่น

1. การขับขี่โดยไม่หยุดให้ผู้ที่ข้ามทางม้าลาย ถือเป็นความผิด แต่กรณีนี้ยังทำให้เกิดการเสียชีวิตด้วย ทำไมข้อหาระบุเพียง “ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ?” (โทษเท่ากับชนคนตายในจุดอื่น ๆ )

2. จักรยานยนต์บิ๊กไบค์ กำหนดว่าจะต้องมีการเข้มงวดให้ผู้ซื้อต้องมาอบรมขับขี่ปลอดภัยก่อนได้รถ คันนี้ ไม่ชัดเจนว่าเพิ่งซื้อ ? แต่ไม่มีการติดป้ายทะเบียน

3. ในเมืองที่มีจุดคนเดินข้ามถนนหรือกิจกรรมสองข้างทาง เช่น ตลาด ชุมชน ฯลฯ จะมีการจัดการผู้ขับขี่ที่ใช้ความเร็วเกินกำหนดในเขตเมืองต้องทำอย่างไร ?

จะเห็นได้ว่า การจัดการหรือลด “ความเสี่ยง” ในการข้ามถนนต้องดำเนินการควบคู่ไปในหลาย ๆ มิติ ทั้งเรื่องสร้างความตระหนักรู้ การคาดการณ์ความเสี่ยงให้ผู้ขับขี่และคนเดินถนน แต่ที่สำคัญคือสร้าง “ระบบความปลอดภัย” (safe system) ที่ต้องให้มากกว่าการ “สั่งการ” เพราะก่อนหน้านี้ ก็มีการเน้นย้ำเรื่องนี้จากรองนายก ประวิตร ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายความปลอดภัยทางถนน เมื่อ 9 กค.2562 เมื่อมีกรณีน้องลิ้นจี่ ซึ่งมาทำงานเป็นวันแรก แต่ถูกรถบิ๊กไบค์ชนเสียชีวิตที่ทางม้าลาย หน้าแยกกรมโยธาและผังเมือง โดยรองนายกประวิตร สั่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้มบังคับใช้กฎหมายบริเวณทางข้ามม้าลายอย่างจริงจังต่อเนื่องกันไป โดยเฉพาะบริเวณ โรงเรียน วัด โรงพยาบาล https://www.khaosod.co.th/politics/news_2693606

ดังนั้น เพื่อมิให้คนในสังคมต้องพบกับความสูญเสียเหมือนที่ครอบครัวของคุณหมอกระต่ายและอีกหลายครอบครัวต้องเผชิญกับความสูญเสียในสิ่งที่ป้องกันได้ ผู้นำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสร้างระบบแห่งความปลอดภัยที่เป็นหลักประกันให้กับสังคม มากกว่าการสั่งการ ได้แก่

1) สำนักงานตำรวจแหงชาติ พิจารณาดำเนินการในเรื่อง

1.1 ผลักดันให้ความผิดกรณีชนคนเดินบนทางม้าลาย ต้องมีข้อหา “ขับขี่โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยผู้ใช้รถใช้ถนนด้วยทุกครั้ง” (เพราะกรณีเด็กเยาวชนที่ขี่จักรยานยนต์ด้วยความเร็ว เวลาระบุข้อหาก็มักจะมีข้อหานี้แนบมาด้วย) พร้อมทั้ง ปรับปรุงฐานความผิดที่รุนแรงมากกว่าขับรถโดยประมาท ซึ่งเป็นฐานความผิดพื้นฐาน

1.2 เพิ่มการตรวจจับและบังคับใช้ในกรณีไม่หยุดหรือชะลอรถให้คนเดินข้ามทางม้าลาย ที่มากขึ้นและจริงจัง

1.3 มีระบบกำกับติดตามประเมินผลที่สามารถทราบได้ว่ามีการดำเนินงานจริงในแต่ละพื้นที่หลังจากที่มีการสั่งการไปแล้ว

2) ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) พิจารณาดำเนินการ

1.1 กำหนดให้เรื่องความปลอดภัยในการข้ามถนน เป็นวาระที่ ศปถ.ในทุกระดับต้องสำรวจและมีแผนดำเนินการ พร้อมทั้ง

1.2 มีการกำกับติดตามความคืบหน้าและติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งรายงานผลให้ ครม. สาธารณะฯ และหน่วยงานรัฐสภาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับรายงานความปลอดภัยทางถนนในด้านอื่นๆ

1.3 เพิ่มการสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้และความตระหนักถึงความเสี่ยงของปัญหานี้ให้สังคมอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนส่งเสริมให้มีการเฝ้าระวังหรือแชร์ภาพ/คลิป กรณีไม่หยุดให้คนเดินข้ามทางม้าลายเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมสังคมอีกทางหนึ่ง

1.4 ส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องการข้ามถนน โดยเฉพาะการคาดการณ์ความเสี่ยงของผู้ที่กำลังข้ามถนน การดึงสติการไม่ละสายตาดูมือถือ ฯลฯ ตั้งแต่เด็กและเยาวชน รวมทั้งประชาชนทั่ว ๆ ไป

3) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่สำคัญ ได้แก่

3.1 กระทรวงคมนาคม หน่วยงานท้องถิ่นและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ดูแลถนนและโครงสร้างพื้นฐาน พิจารณาดำเนินการ

- ถนนที่มีทางข้ามหลายข้องจราจร (มากกว่า 2 ช่องขึ้นไปในแต่ละด้าน) พิจารณาให้มีการจัดการ “ความเร็ว” ของรถที่ขับขี่ โดยเฉพาะในเขตชุมชน/จุดข้ามทางม้าลาย ลดความเร็ว 30-40 กม./ชม.เมื่อมีคนข้าม

- เพิ่มระยะเส้นหยุดหรือมีสัญญลักษณ์ให้เด่นชัดสำหรับรถที่ต้องชะลอหรือหยุด เช่น เส้นซิกแซก การ marking สี ฯลฯ เพื่อให้คนข้ามหรือรถสามารถมองเห็นกันมากขึ้น ของคนข้ามทางม้าลายในแต่ละช่องจราจร

3.2 กรมการขนส่งทางบก ฯ กำหนดเรื่องการชะลอและหยุดให้คนข้ามในทางม้าลายไว้ในหลักสูตรและการสอบใบขับขี่ รวมทั้งการคาดการณ์ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และกรณีบิ๊กไบค์ที่กำหนดให้มีการฝีกอบรมก่อนซื้อรถ ก็ต้องมีการกำกับติดตามว่าสามารถดำเนินการได้จริงและเกิดประสิทธิผล

ท้ายนี้ ความคาดหวังของสังคมไทยจะไม่ใช่เพียงผู้บริหารออกมา “สั่งการ” การแบบเดิม ๆ โดยไม่เกิดระบบจัดการที่เป็นรูปธรรม สิ่งที่สังคมไทยจะดำเนินการควบคู่กันก็ต้องมีระบบเฝ้าระวัง ระบบกำกับติดตามและที่สำคัญ “ทวงถาม” ความรับผิดชอบ ถ้ายังคงมีความสูญเสียเหมือนที่ครอบครัวของคุณหมอกระต่ายและอีกหลายครอบครัวต้องประสบอยู่ .. หมดยุคผู้นำที่ออกมาเพียง “สั่งการ” แต่ไม่ติดตามจนมีระบบ จนมีความปลอดภัยที่ยั่งยืนให้คนไทย

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา https://www.isranews.org/article/isranews-article/106005-isra-69.html

© 2018 - www.roadsafetythai.org All rights reserved