บีมศรัณยู ผลจากพลังใบ หรือใจไร้สำนึก? โหมกระแสให้แรง ถ้าอยากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม  


2 ก.พ. 2565 2281 แผนงาน : ศวปถ.& มนป.   


“บีม-ศรัณยู” ไลฟ์สดสุดคึก-ขับรถหวาดเสียว-ซิ่งรถมือเดียว-เคี้ยวใบกระท่อม จนคนหวั่นเกิดอันตราย หากต้องใช้ถนนด้วย ด้านกูรูความปลอดภัยบนท่องถนน ย้ำ “อย่าสร้างแบบอย่างความเสี่ยงถนนให้เยอะขึ้นอีกเลย”

โซเชียลฯ จวกสนั่น! #บีมพลังใบ

“พลังใบโว้ย!! มา!!”

กลายเป็นเรื่องราวที่มีการพูดถึงอย่างมากในตอนนี้ สำหรับพฤติกรรมของ “บีม-ศรัณยู ประชากริช” นักแสดงและพิธีกรชื่อดัง วัย 38 ปี หลังออกมาไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ก “BeamSaranyoo” ให้เห็นถึงไลฟ์สไตล์สุดโลดโผนต่างๆ

ทั้งการขับรถมือเดียว การใช้หัวเข่าขับรถ ขับเรือ และอื่นๆ แต่ละกิจกรรมล้วนแล้วแต่มีการเคี้ยว “ใบกระท่อม” พร้อมกับตะโกนคำว่า “พลังใบโว้ย!! มา!!” รวมอยู่ด้วยเสมอ เกิดเป็นแฮชแท็กประจำตัว #บีมพลังใบ
 


หลังจากที่คลิปของนักแสดงหนุ่มถูกส่งต่อออกไป มีชาวเน็ตจำนวนไม่น้อยชื่นชอบ พร้อมกับสมัครเป็นแฟนคลับของ #บีมพลังใบ เพิ่มขึ้นทุกแพลตฟอร์ม และในหมู่คนรักใบกระท่อมก็ยกให้เขาเป็น “หัวหน้าเผ่าพลังใบ” ไปโดยปริยาย

แต่ขณะเดียวกัน ก็มีความคิดเห็นอีกด้านที่มองว่า การไลฟ์เฟซบุ๊กพร้อมกับขับรถอย่างน่าหวาดเสียว เป็นพฤติกรรมที่อันตรายต่อทั้งตนเองและผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นๆ

พร้อมกับหยิบยกกับกรณี “หมอกระต่าย” ที่ถูกจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ ชนจนเสียชีวิต ขณะกำลังเดินข้ามทางม้าลาย นับเป็นอีกเหตุการณ์ความสูญเสียบนท้องถนนที่เกิดขึ้นได้ไม่นาน แต่คนบางกลุ่มในสังคมกลับไม่ตระหนักถึงอันตราย มิหนำซ้ำ ยังชื่นชอบพฤติกรรมสุดเสี่ยงนี้อีก
 


“ผมอยากรู้นะครับว่า...ถ้า หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาจะเกิดอะไรขึ้นครับ หมายถึงเกิดเหตุไม่ขาดฝันขี่ชนคนตายเพราะประมาท หรืออะไรก็แล้วแต่ พี่จะทำไงครับ จะมีคนชื่นชมพี่อยู่เรื่อยๆ ไหมครับ หรือว่ามีคนยกย่อง บนท้องถนนพี่ไม่ได้อยู่คนเดียว ขับรถใช่ว่าจะปลอดภัย อะไรก็เกิดขึ้นได้ อย่าประมาทครับ”

“ผมว่าจะหลุดจะรั่วไม่มีใครว่าหรอกครับ ถ้าอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัย และไม่ทำให้คนอื่นหรือส่วนรวมเดือดร้อน พี่เซฟสักนิดนึง เพราะถ้าเกิดเหตุอะไรร้ายแรงขึ้นมา ใบกระท่อม คือสิ่งแรกที่จะโดนโบ้ยความผิดก่อนเลย อุตส่าห์หลุดออกจากรายชื่อยาเสพติดแล้วด้วย”

เกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ได้ให้ความคิดเห็นแก่ทีมข่าว MGR Live ไว้อย่างน่าสนใจ

“ผมคิดว่าในมุมของสังคมจะเห็นลบมากกว่าเห็นบวก คนที่สนใจมาฟอลโลว์หรือมาไลก์เขามากขึ้น ก็ไม่น่าจะเยอะกว่าคนที่รู้สึกเห็นต่าง เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เรื่องผลจากใบกระท่อม อันนี้เราบอกได้ไม่ง่าย เพราะไม่รู้ว่าเขาใช้กี่ใบและเขาใช้ยาอื่นร่วมด้วยมั้ย
 

 


นอกจากเรื่องใบกระท่อม ผมคิดว่าลักษณะการขับรถ ขับมือเดียว เขาจะละสายตาหันมามองกล้องและไลฟ์ ถือว่าค่อนข้างเสี่ยงและอันตราย เป็นข้อหาในความผิดตาม พ.ร.บ.จราจร ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยใช้รถใช้ถนน ไม่ต้องรอให้ชนคน สามารถเข้าไปเตือนได้ มันเป็นข้อหา มีโทษปรับ

คุณบีมหรือใครก็ตามที่ยังคงมีพฤติกรรมเสี่ยงบนถนนได้ โดยที่ไม่ต้องกังวลอะไรมาก หรือแม้กับเคสอื่น กับทางม้าลาย เป็นเพราะกระแสสังคมบ้านเรา ยังไปไม่ถึงการที่จะกดดันในเชิงให้คนๆ นั้น รู้สึกว่า ถ้าไม่หยุดรถให้คนข้ามจะโดนถล่ม

แต่เคสไม่หลบรถพยาบาลแล้วมีผู้ป่วยในรถตาย โซเชียลฯก็ขานรับและพร้อมใจกัน เวลามีการแชร์คลิปหรือเห็นว่าใครไม่หลบรถพยาบาลจะถล่ม ผมมองว่าเรื่องไม่หลบรถพยาบาล กระแสสังคมมีอิทธิพลหรือกดดันคนที่ไม่หลบรถ

กระแสสังคมบนถนนอย่างทางม้าลาย มันยังไม่แรงพอที่จะกดดันคนที่ไม่จอดหรือไม่ชะลอให้คนข้าม เขาอาจจะถูกมองบ้างแต่ก็เฉยๆ แต่อย่างน้อยเคสคุณหมอกระต่าย ก็เริ่มมีคนหันกลับมามองพฤติกรรมเสี่ยงบนท้องถนนมากขึ้น เพียงแต่เรายังไม่สามารถ keep ให้กระแสนี้มันถึงขั้นมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อกลับไปยังพฤติกรรมคนขับได้”

คึกเพราะ “พลังใบ” หรือคึกเพราะอะไร?!

จากอาการ “คึกเป็นพิเศษ”ของเขาที่เห็นในคลิป ทำให้ชาวเน็ตตั้งข้อสังเกตว่า เกิดจากการกินใบกระท่อมจริงหรือไม่ เพราะมีหลายความเห็นยืนยันว่า กินใบกระท่อมแล้วไม่ได้ทำให้เกิดอาการดีดเช่นนั้น แต่ทำให้ทำงานอึด ทนแดด เว้นเสียแต่ว่ายกเว้นเอาไปผสมกับอย่างอื่น เพื่อทำเป็นสารเสพติด และหวั่นคนจะเข้าใจใบกระท่อมแบบผิดๆ

ในเวลาต่อมา เจ้าตัวออกมาชี้แจงผ่านรายการ “ทุบโต๊ะข่าว”ใจความว่า ตนเองเป็นโรคไฮเปอร์ ADHD และอยู่นิ่งไม่ได้ ทุกคนอาจจะดูว่ามันเป็นความเสี่ยง แต่จริงๆ มันคือความเสี่ยงในความรอบคอบ และคิดเผื่อ 2 3 4 ไปหมดแล้ว ส่วนใหญ่ทุกคลิปตนเองจะพยายามสอดแทรกในเรื่องของคำเตือน และใบกระท่อมไม่น่าจะมีผล การที่เขาคึกก็เพราะเป็นคนไฮเปอร์ไม่เกี่ยวกับยาเสพติด

และล่าสุด บีม-ศรัณยู มีการไลฟ์ขอโทษผ่านแฟนเพจของตนอีกครั้ง โดยมีการกล่าวถึงเรื่องใบกระท่อมไว้ด้วย

“ไม่ได้เป็นคนที่ใช้ใบกระท่อมในทุกๆ วัน เขามักที่จะใช้ในวันที่มีแดด ผมขอย้ำว่า การเคี้ยวใบกระท่อมไม่ได้ทำให้เมาโดยเฉพาะผมเองที่ออกกำลังกายมาทั้งชีวิต ก็ไม่ได้ส่งผลอะไร เพราะถ้าผมไม่ไหว ผมก็พอ คนเราต้องรู้ข้อจำกัดของตัวเอง แต่เรื่องอะไรที่ผมเคยทำแล้วมันดูไม่เหมาะสม ก็อยากขอโทษจากใจ”
 


ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางถนน ได้ให้ความรู้ถึงประเด็นของอาการป่วย ที่ไม่ควรขับรถไว้อีกด้วย

ส่วนใหญ่โรคต้องห้ามจะเน้นว่า ไม่สามารถควบคุมการตัดสินใจได้ เช่น โรคลมชัก หรือเป็นโรคที่อยู่ในสภาวะ uncontrolled เช่น เบาหวานและช็อก มีโอกาสที่จะขับไปหมดสติ (อาการไฮเปอร์) ไม่ได้เป็นโรคต้องห้าม ยังอยู่ในกลุ่มโรคที่สามารถขับขี่ได้ เนื่องจากส่วนนึงไม่ได้เป็นอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไปกำหนดว่าห้าม มันก็จะเข้าข่ายไปจำกัดสิทธิเสรีภาพ

ความเห็นผม ถ้าประเมินว่ากลุ่มอาการเหล่านี้ ถ้าเขามีความผิดซ้ำๆ กระทำความผิดเข้าข่ายขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย เจอหลายรอบ อันนี้อาจจะเป็นลักษณะของการเตือนหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ได้”

ส่วนอีกประเด็นที่ผู้คนให้ความสนใจ นั่นก็คือ “ใบกระท่อม” พืชที่ถูกปลดออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา โดย อ.พญ.สุทธิมน ธรรมเตโช จาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุข้อมูลว่า สารออกฤทธิ์ในใบกระท่อม เช่น ไมทราใจนีน และ เซเว่น-ไฮดรอกไซไมทราใจนิน จะช่วยทำให้ตื่นตัว แก้ปวด และคลายกล้ามเนื้อ

และหากบริโภคใบกระท่อมมากเกินไป อาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ชีพจรเต้นเร็วผิดปกติ กระสับกระส่าย ชัก เซื่องซึม หรือกดการหายใจ ทำให้เสพติดเมื่อใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน และอาจส่งผลต่อยาบางประเภทที่กำลังรับประทานอยู่
 

ทางด้าน คุณหมอธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ก็ได้ใช้โอกาสนี้กระตุ้นไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงการเร่งให้มีระบบตรวจหาสารจากกระท่อมและกัญชา เพื่อรองรับกรณีหากเกิดอุบัติเหตุในอนาคต
 


“หลังจากที่เริ่มปลดล็อกให้เป็นพืชถูกกฎหมายตั้งแต่เดือนสิงหามา ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่ภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข อาจจะต้องตั้งหลักกับเรื่องนี้ ทำยังไงให้มีระบบการตรวจหาสาร

กรณีถ้าเกิดอุบัติเหตุเราจะตรวจได้ว่าคนๆ นี้ มีการเสพรึเปล่า เพราะอย่างที่เรารู้ ถ้าเอาใบกระท่อมมาเคี้ยวเล่นๆ 4-5 ใบ มันไม่ได้เกิดฤทธิ์อะไรมาก มันก็ได้สมองโปร่งโล่ง รู้สึกกระปรี้กระเปร่า แต่บางกลุ่มจะไปเคี้ยวใบกระท่อมหรือไปผสมต้มกับยาแก้ไอ 4x100 พวกนั้นมันควบคุมปริมาณฤทธิ์ไม่ง่าย พอเกิน 4-5 ใบ ก็เริ่มมีผลทางจิตประสาท

ผมคิดว่าเราอาจจะต้องเร่งพัฒนาตัวตรวจ เหมือนยุคนึงเราต้องพัฒนาแล็บในการตรวจวัดแอมเฟตามีน พวกยาบ้า ในกรณีเกิดอุบัติเหตุว่าคนนี้ไปเสพมารึเปล่า อาจจะต้องเริ่มหันกลับมาเตรียมเรื่องนี้ รวมไปถึงกัญชา เพราะว่าพอเราอนุญาตให้มันถูกกฎหมาย มันก็อาจจะเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น

ตอนนี้เราแทบไม่ได้เฝ้าระวังกันเลย พอเปิดเสรีปุ๊บ พออิสระมากๆ คนเข้าถึง เอามาเคี้ยวเล่นแล้วขับรถมากน้อยแค่ไหน มันสัมพันธ์กับการเกิดอุบัติเหตุมากน้อยแค่ไหน เรายังไม่มีระบบเฝ้าระวังตรงนี้ เพราะฉะนั้นความเห็นผมคือเราต้องตั้งหลักกับระบบเฝ้าระวังรองรับไปด้วย ทั้งกระท่อม ทั้งกัญชา”
 


สุดท้าย ผู้จัดการ ศวปถ. ได้ฝากถึงการใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะผู้ที่มีคนติดตามเป็นจำนวนมาก ว่า ควรให้ความสำคัญกับเนื้อหาการนำเสนอผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ของตนให้มากยิ่งขึ้น

“อยากจะฝากกับพวกอินฟูเอนเซอร์ เน็ตไอดอล ดารา การพยายามแสดงผ่านพื้นที่สาธารณะของตัวเอง ให้คนเห็นไลฟ์สไตล์ของตัวเอง จะต้องคำนึงถึงสิ่งที่สื่อสารออกมาด้วย ผมคิดว่าลักษณะนี้เจ้าตัวอาจจะไม่คำนึงมากพอ

แบบอย่างที่คุณแสดงออกมันก็จะมีผลกับคนที่ติดตามคุณ อยากเห็นการแสดงไลฟ์สไตล์ที่มีขอบเขตและคำนึงถึงความปลอดภัย ไม่ไปสร้างความเสี่ยง เพราะเรามีความสูญเสียเรื่องของการเดินทางมาเยอะ อย่าไปสร้างแบบอย่างของความเสี่ยงถนนให้มันเยอะขึ้นอีกเลย”

ที่มา : https://mgronline.com/

© 2018 - www.roadsafetythai.org All rights reserved