สมรภูมิทางม้าลาย วินัยแก้ยากฝังรากลึก  


4 ก.พ. 2565 2218 แผนงาน : ศวปถ.& มนป.   


สมรภูมิทางม้าลาย วินัยแก้ยากฝังรากลึก

นับเป็นอุบัติเหตุสะเทือนใจที่ไม่น่าเกิดขึ้น “ตำรวจขับรถบิ๊กไบค์ชนจักษุแพทย์ขณะข้ามทางม้าลายเสียชีวิต” สร้างความโศกเศร้าต่อวงการแพทย์ไทยที่ต้องสูญเสียบุคคลฝีมือดีอนาคตไกลครั้งนี้

สะท้อนตอกย้ำถึง “บนทางม้าลายไทยมิใช่ที่ปลอดภัยสำหรับคนข้ามถนน” เพราะโศกนาฏกรรมนี้ “ไม่ใช่รายแรกที่มีผู้สังเวยชีวิต
จากอุบัติเหตุบนทางม้าลาย” แต่กลับเป็นปัญหาถูกซุกซ่อนไว้คงวนเวียนเกิดขึ้นประจำซ้ำซากดังกึกก้องไปทั่วโลก จนมีหลายประเทศแจ้งเตือนระมัดระวังการเดินทางเข้ามาในไทยด้วยซ้ำ

ส่วนหนึ่งมาจาก “ผู้ขับรถขาดวินัย” สังเกตพฤติกรรมขับขี่มักเร่งความเร็วเมื่อรถใกล้ถึงทางม้าลาย บางครั้งบีบแตรไล่ หรือจอดรถทับทางม้าลาย ทั้งที่สิ่งนี้คือสัญลักษณ์เตือนผู้ขับรถต้องหยุดให้ผู้ใช้ข้ามถนนปลอดภัย

ดังนั้น “อุบัติเหตุบิ๊กไบค์ชนจักษุแพทย์เสียชีวิต” กลายเป็นชนวน กระแสสังคมเรียกร้องให้ทางม้าลายปลอดภัยจริงอีกครั้ง นพ.ธนะพงศ์
จินวงษ์ ผจก.ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน บอกว่า

จริงๆแล้ว “ผู้เดินถนนในไทยเกิดการสูญเสียทุกปี” ข้อมูลสำนักงานสถิติเก็บตัวเลขคนเดินถนนประสบเหตุในปี 2559-2561 จำนวน 2,500-2,900 ราย/ปี จำนวนนี้มีกรณีคนเดินข้ามถนน 1 ใน 4 หรือ 900 คนต่อปี ส่วนใหญ่ข้ามถนนคุยโทรศัพท์ การอ่าน พิมพ์ข้อความ จับกลุ่มเดินไปคุยไป

โดยเฉพาะ “พื้นที่เมืองใหญ่” มีสาเหตุจากกายภาพ ถนนกว้างหลายช่องทาง ทำให้คนต้องใช้เวลาข้ามถนนนาน เช่น ถนนกรุงเทพฯ แบ่ง

ฝั่งละ 3 เลน ในเลนซ้ายสุดถูกใช้รองรับรถเมล์วิ่งมีความกว้างราว 3.5 เมตร และเลนถัดมากว้าง 3 เมตร แล้ว “คนข้ามถนน” มักมีระยะก้าวเท้าใช้เวลาเดินเฉลี่ย 0.35 เมตร/ก้าว

ถ้าคำนวณการเดินข้ามถนนใน 2 เลน ใช้เวลาประมาณ 7–10 วินาที แล้ววินาทีถัดไปนั้นจำเป็นต้องสปีดความเร็ว เพราะหากอยู่บนถนนเกินกว่า 10–15 วินาทีจะเริ่มมีความเสี่ยงอันตรายทันที

ด้วยเหตุ “กฎหมายจราจรไทย” อนุญาตให้รถใช้ความเร็วในเมืองได้ระดับ 80 กม./ชม. สำหรับความเร็วขนาดนี้ “ถ้าเกิดชนผู้เดินถนนเท่ากับตกตึก 8 ชั้น” นับเป็นอันตรายมากที่มีโอกาสรอดชีวิตเพียง 10%

อีกทั้งยังมี “ปัจจัยกายภาพถนนมีผลต่อการมองเห็นระหว่างคนเดิน และคนขับ” โดยเฉพาะเลนขวาสุดมักเป็นจุดมุมอับเสี่ยงอันตรายมากที่สุด เพราะตามปกติรถวิ่งเลนซ้ายสุดมักสามารถมองเห็น “คนข้ามถนนได้ดี” แต่ถ้าเป็นเลนถัดมาก็เริ่มมีวิสัยทัศน์การมองเห็นลำบากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

ยิ่งเป็นถนนแบบฝั่งละ 3 เลน เลนที่ 1 เลนที่ 2 รถสามารถมองเห็นคนข้ามถนนมักจอดชะลอให้อยู่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่ “เลนที่ 3” การมองเห็นคนข้ามถนนได้น้อยมาก กลายเป็นจุดบอดระหว่างคนข้ามถนน และคนขับรถปะทะกันโดยไม่ทันระวังตัว ทำให้จุดนี้อันตรายของการข้ามถนนเกิดอุบัติเหตุมีผู้เสียชีวิตบ่อยครั้ง

อย่างกรณี “รถบิ๊กไบค์ชนหมอกระต่ายเสียชีวิต” ก็เกิดเหตุในเลนขวาสุด มีสิ่งบดบังค่อนข้างมากแล้วรถบิ๊กไบค์แล่นด้วยความเร็ว 80 กม./ชม. แซงรถตู้มาเจอคุณหมอข้ามทางม้าลายพอดีทั้ง 2 ฝ่ายต่างมองไม่เห็นกัน

ต้องเข้าใจ...“ความเร็วระยะเบรกที่ปลอดภัย” รถแล่นความเร็ว 40 กม./ชม. มีระยะเบรกที่ปลอดภัย 9 เมตร รถวิ่ง 60 กม./ชม. ระยะเบรก 20 เมตร ความเร็ว 80 กม./ชม. ระยะเบรก 36 เมตร และความเร็ว 100 กม./ชม. ระยะเบรก 56 เมตร กรณีรถบิ๊กไบค์ชนหมอกระต่ายเสียชีวิตเป็นเหตุกระชั้นชิดที่ไม่อาจหยุดรถได้ทันแน่นอน

หนำซ้ำระยะหยุดรถนี้ยังมี “ระยะเวลาคิดเข้ามาเป็นองค์ประกอบการตัดสินใจการเบรกหยุดรถด้วย” คนทั่วไปมีระยะเวลาคิดตัดสินใจเฉลี่ย 1.5 วินาที เช่น รถวิ่งด้วยความเร็ว 40 กม./ชม. ระยะคิดเพื่อเบรกรถระยะปลอดภัยที่ 16 เมตร รถวิ่ง 80 กม./ชม. ระยะคิดเบรก 33 เมตร รถวิ่ง 100 กม./ชม. ระยะคิดเบรก 42 เมตร

เช่นนั้น “รถแล่นความเร็วสูงควรเหมาะกับถนนที่มีความพร้อม” อย่างเช่น ถนนมอเตอร์เวย์ที่ไม่มีรถตัดกระแสกัน ไม่นำรถวิ่งช้าปะปนรถวิ่งเร็ว แล้วบริเวณริมทาง 2 ฝั่ง ไม่มีกิจกรรมอันเป็นความเสี่ยงอันตราย

อันที่จริงแล้ว... “ความเร็วในเมือง 80 กม./ชม.” เป็นปัญหารากเหง้าก่อให้เกิดอุบัติเหตุ จำเป็นต้องปรับปรุงในอนาคตด้วยซ้ำ เพราะเป็นอัตราทะลุพิกัดกำหนดการขับขี่ในเขตเมืองแล้ว “ไม่มีประเทศใดอนุญาตกัน” ส่วนใหญ่ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 50 กม./ชม. เช่น มาเลเซียห้ามรถวิ่งเขตเมืองเกิน 50 กม./ชม. รถ จยย.ไม่เกิน 40 กม./ชม.

ถ้าเป็นเขตประกาศชุมชนหนาแน่นยิ่งห้ามวิ่งเกิน 30 กม./ชม. เพราะมักเป็นจุดมีกิจกรรม 2 ฝั่งถนนก่อให้เกิดความเสี่ยงสิ่งกีดขวางวิ่งตัดหน้ากระชั้นชิดได้เสมอ ฉะนั้น “หน่วยงานดูแลถนน” ควรพิจารณาเพิ่มสัญลักษณ์ชะลอหยุด และจัดการความเร็วในเขตชุมชน/จุดข้ามทางม้าลาย 30-40 กม./ชม.เมื่อมีคนข้าม...

แม้ว่า “ป้ายแจ้งเตือนทางม้าลายปัจจุบัน” ไม่อาจการันตีความปลอดภัยได้ เพราะถูกสิ่งของบดบังให้ “คนขับขี่” ไม่เห็นป้าย เรื่องนี้เสนอว่าทำเครื่องหมายลงบนถนนชัดเจน 30 เมตรก่อนถึงทางม้าลาย

หากเปรียบเทียบกรณีนี้ “ในต่างประเทศ” แก้ด้วยการปรับกายภาพถนน มีจุดพักยืนช่องรอยต่อเลน เพราะเขาเน้นความปลอดภัยให้คนข้ามถนนต่างจาก “ไทยบนถนนรถเป็นใหญ่” จนออกแบบรองรับด้วยซ้ำ

“ตอนนี้ควรสร้างบรรทัดฐานสังคมใหม่ ที่เรียกว่า norm เพื่อให้ตระหนักในความปลอดภัยแก่ผู้ข้ามถนนบนทางม้าลาย แล้วบุคคลใดไม่หยุดรถต้องไม่ใช่แค่โทษปรับจ่ายเงินจบเท่านั้น แต่ต้องมีกระบวนการทางสังคมต่อพฤติกรรมการฝ่าฝืนนี้เป็นเหตุให้รถเฉี่ยวชนคนบาดเจ็บหรือเสียชีวิตต้องทำให้เป็นเรื่องใหญ่สำคัญ” นพ.ธนะพงศ์ว่า

ในส่วน “กฎหมายคุ้มครองคนข้ามถนน” มีช่องโหว่การบังคับใช้ต้องสร้างให้มีประสิทธิภาพ 2 ด้าน คือ 1.จัดการผู้ฝ่าฝืนเฉียบขาด เพื่อการรับรู้ใครทำผิดมักหนีไม่รอด 2.ดำเนินคดีหนักผู้ฝ่าฝืน ไม่ใช่โทษปรับ 1 พันบาท

มิเช่นนั้นก็ “จะหย่อนยานปฏิบัติตามกฎหมาย” จนเกิดอุบัติเหตุรถชนคนข้ามทางม้าลายขึ้นเป็นระยะๆ ดังนั้น ต้องใช้มาตรการบังคับให้ชะลอความเร็วของรถลงก่อนถึงทางม้าลายให้ได้ ไม่ว่าจะเห็นคนข้ามหรือไม่

ประการต่อมา “สะพานลอย” อันเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาความปลอดภัยให้คนข้ามถนน แต่กลับไม่ยอมใช้กัน ด้วยเหตุมีลักษณะลาดชันเกิดจากอาคารพาณิชย์ไม่ยอมให้ทำแรมบ์สะพานยาวได้ เพราะกีดขวางพื้นที่หน้าบ้านใช้ทำธุรกิจจนผู้ออกแบบต้องปรับสภาพสะพานลอยให้เหมาะสมกับพื้นที่กรุงเทพฯ

สิ่งนี้ไม่สามารถตอบโจทย์ “คนพิการ เด็ก ผู้สูงวัย” ไม่อาจขึ้นสะพานลอยข้ามถนนได้ง่าย

ตอกย้ำด้วย...“มิติวิถีวัฒนธรรมทางสังคมไทย” ที่ให้ความสำคัญแก่รถมากกว่าคนเดินถนน จนมีแนวคิดว่า “รถอยู่บนถนนไม่ต้องชะลอ ที่ไม่หยุดรถก็ไม่เป็นไร” ต่างจากในหลายประเทศ คนขับรถมักเกรงใจให้ความสำคัญต่อคนเดินเท้าที่ต้องหยุดรถให้ข้ามอย่างปลอดภัยเสมอ

เช่น “ญี่ปุ่น” เป็นประเทศมีความปลอดภัยในการสัญจรบนท้องถนนมาก เพราะเด็กญี่ปุ่นเติบโตมาด้วยการเดินเท้าไปโรงเรียนที่ได้ซึมซับความรู้สึกจาก “ผู้ขับรถจอดให้เขาเดินข้ามถนน” แล้วสิ่งนี้ถูกส่งต่อเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้ตระหนักและให้ความสำคัญผู้เดินถนนตามมาเช่นกัน

ส่วน “เด็กไทย” มักเติบโตขึ้นบนรถ “ผู้ปกครอง” ขับรับส่งจนขาดโอกาสซึมซับวิถีเดินบนทางม้าลายที่มีรถจอดให้ข้าม จึงไม่ใช่เรื่องง่าย... คนไทยตระหนักให้คนข้ามถนนปลอดภัยที่ถูกละเลยขาดการเอาใส่ใจมานาน

ฝากไว้ว่า “คนข้ามถนน” ควรมองทางม้าลายเป็นสมรภูมิมีแต่จุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้เสมอ “ผู้ขับขี่” ก็มองทางม้าลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยต่อคนข้ามถนน “สังคมไทย” ต้องเฝ้าระวังติดตามทวงถามความรับผิดชอบจากหน่วยงานดูแลโดยตรง “หากมีกรณีการสูญเสียบนทางม้าลาย” เพื่อให้การเดินข้ามถนนปลอดภัยยั่งยืน

สุดท้ายอุบัติเหตุเกิดแบบไม่คาดฝันต้นตอจาก “ขับรถเร็วประมาท” มักต้องถูกดำเนินคดีอาญา ยอมความไม่ได้ “แถมถูกเรียกร้องให้ชดเชยค่าเสียหาย” อันมีขั้นตอนฟ้องคดีทางแพ่งตามกฎหมายที่ไม่ให้เสียเปรียบติดตามกันตอนต่อไป.

ที่มา : https://www.thairath.co.th/

© 2018 - www.roadsafetythai.org All rights reserved