รูโหว่อุบัติเหตุสงกรานต์ ถอดโมเดลโควิดป้องกัน  


15 เม.ย. 2565 2273 แผนงาน : ศวปถ.& มนป.   


คนไทยได้เฮเมื่อ “รัฐบาล” อนุญาตให้จัดกิจกรรมสงกรานต์ 2565 ตามประเพณีสืบสานวัฒนธรรมไทย แต่ยังคงเข้มมาตรการป้องกันการระบาดโควิด-19 จัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโรคตามเดิม

ผู้คนไม่น้อยต่างวางแผนเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวพักผ่อนช่วงหยุดยาวประจำปีแล้วมักมาควบคู่การฉลองตั้งวงสังสรรค์ “เสี่ยงแพร่ระบาดโควิดและเกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บล้มตายสูง” จากพฤติกรรมประมาท ขับรถเร็วเมาขับไม่สวมหมวกกันน็อก ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย อันเป็น “ปัญหาโลกแตก” แต่ป้องกันหลีกเลี่ยงได้

ทำให้สงกรานต์ปีนี้ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” เตรียมกำลังพลกว่า 8 หมื่นนาย อำนวยความสะดวกดูแลความปลอดภัยให้ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนา การป้องปรามไม่ให้ฝ่าฝืนกฎหมายตลอดเทศกาล โดยไม่มีวันหยุดพัก ตั้งแต่อำนวยความสะดวกจราจรจุดก่อสร้างซ่อมแซมถนน 418 จุดทั่วประเทศ

จัดตำรวจอำนวยการจุดเป็นปัญหาการจราจร แหล่งท่องเที่ยว กรณีเกิดอุบัติเหตุเข้าถึงคลี่คลายการจราจรได้ทันที ออกข้อบังคับเปิดช่องทางพิเศษเร่งระบายรถ 445 กม. ข้อบังคับห้ามรถ 10 ล้อขึ้นไปเดินรถบางสาย

ทั้งป้องกันลดอุบัติเหตุ ตั้งจุดตรวจกวดขันวินัยจราจร 1,937 จุด จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ 1,430 จุด และชุดสายตรวจจราจร 1,903 ชุด กวดขันการกระทำผิดกฏจราจร เริ่มตั้งแต่ 4 เม.ย.65 และช่วง 7 วันควบคุมเข้มข้น

ทุกจังหวัดตั้งเป้าลดอุบัติเหตุเจ็บตายจากค่าเฉลี่ยสงกรานต์ 3ปีย้อนหลังไม่น้อยกว่า 5%

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผจก.ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน บอกว่า ในปี 2554-2563 ถูกกำหนดเป็นทศวรรษความปลอดภัยทางถนน มีเป้าลดอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่า 21 คนต่อประชากรแสนคน ในปี 2563

ทำให้อัตราเสียชีวิตลดลงเรื่อยๆ ในปี 2554 อยู่ที่ 34.27 คนต่อประชากรแสนคน ปี 2563 จบทศวรรษฯ ตรงช่วงโควิด-19 ระบาด “รัฐบาล” ออกมาตรการงดเดินทางโดยไม่จำเป็น งดดื่มแอลกอฮอล์ จนฉุดตัวเลขอุบัติเหตุต่ำลง27.2 คนต่อประชากรแสนคน

แต่ก็ยังไม่อาจบรรลุเป้าหมายตามกรอบทศวรรษความปลอดภัยทางถนนได้

ประเด็นสงกรานต์ปีนี้ “รัฐบาล” ได้ประกาศหยุดยาวติดต่อหลายวันทำให้ “ประชาชนแห่เดินทางกลับภูมิลำเนา” แล้วอนุญาตให้ในบางพื้นที่เริ่มผ่อนผันให้จัดงานรื่นเริง หรือกิจกรรมต่างๆใกล้เคียงปกติ สิ่งนี้มีโอกาสกลายเป็นตัวเร่งให้ “อัตราการเกิดอุบัติเหตุทางถนน มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต”กลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกได้

แต่ว่า “ตัวเลขอุบัติเหตุจะไม่สูงเทียบเท่าปีก่อนเกิดโควิด-19” เพราะด้วยประชาชนเจอโรคระบาดมา 2 ปี ทำให้การใช้ชีวิตเปลี่ยนไป “ไม่อาจใช้เงินฟุ่มเฟือยเดินทางท่องเที่ยวเหมือนเดิม” โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ “ราคาน้ำมันค่อนข้างปรับตัวสูงขึ้น” มีผลต่อการตัดสินใจของคนไทยออกเดินทางเช่นกัน

ถัดมาถ้าเปรียบเทียบย้อนหลัง “เปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตช่วงสงกรานต์ 8 ปีก่อนนี้” จะเห็นสาเหตุเกิดอุบัติเหตุแบ่งเป็น 4 ปัจจัยหลักสำคัญคือ1.การขับรถเร็ว 2.ดื่มเมาแล้วขับ 3.ขับตัดหน้ากระชั้นชิด 4.หลับใน

ทว่าก็มีข้อสังเกตว่า “ปี 2563 อัตราเสียชีวิตลดเหลือ 167 รายต่ำสุดรอบหลายปี” แต่ถ้าเทียบกับปี 2562 ลดลง 56.7% สาเหตุจากขับรถเร็ว49% เมาขับ 10% ตัดหน้ากระชั้นชิด 18% หลับใน 4% ปัจจัยเลขลดลงก็เพราะเป็นปีแห่งโควิด-19 ระบาด “รัฐบาล” ออกมาตรการยาแรง 3 ตัว คือ ล็อกดาวน์ เคอร์ฟิว และห้ามจำหน่วยสุรา

ก่อนมาถึง “ปี 2564 ผ่อนปรนมาตรการโควิด-19” อัตราเสียชีวิตสูงขึ้น 277 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 28% สาเหตุขับรถเร็ว 48%เมาขับ 21% ตัดหน้ากระชั้นชิด 18% หลับใน 4% ฉะนั้นปีนี้เริ่มผ่อนผันให้ดื่มสุราจัดงานรื่นเริงมากขึ้น “ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ” น่าจะใกล้เคียงในช่วงสงกรานต์ปี 2562 จำนวน 386 ราย

ข้อสังเกตมีอยู่ว่า “ความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ปีนี้จะเปลี่ยนไปจากทุกครั้ง” เพราะด้วยการระบาดโควิด-19 ทำให้ประชาชนต้องหันมาใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทางกลับภูมิลำเนา แล้วจะเป็นในรูปแบบทยอยกันออกเดินทางเป็นหลัก ลักษณะนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ในช่วง 2-3 เทศกาลที่ผ่านมา

สิ่งที่พบ “การจราจรหนาแน่นเป็นช่วงสามารถใช้ความเร็วได้” ก็ปรากฏว่า “มีรถวิ่งชิดขอบทางซ้ายเกิดอุบัติเหตุบนไหล่ทาง” ทั้งปัจจัยขับรถนานอ่อนล้าหลับใน 7-8% โดยเฉพาะรถสาธารณะเกิดความสูญเสียสูง

ปัญหามีต่อว่า “การทยอยเดินทางกลับถึงภูมิลำเนาเร็ว” กลับกลายเป็นเจอปรากฏการณ์การเฉลิมฉลองตั้งวงดื่มเหล้าสังสรรค์ในเทศกาลสงกรานต์ในพื้นที่ชุมชนเร็วขึ้น แต่ขณะที่ “ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และอาสาสมัคร” ต่างยังอำนวยความสะดวกดูแลความปลอดภัยให้ประชาชนเดินทางตามถนนหลักอยู่ด้วยซ้ำ

ผลที่ตามมาคือ “ตำรวจ และฝ่ายปกครองทำหน้าที่ 2 ภารกิจพร้อมกัน” ไม่สามารถดูแลป้องกันกลุ่มตั้งวงดื่มสังสรรค์ตามบ้านที่มักขับรถมอเตอร์ไซค์ออกมาเฉลิมฉลองกัน แล้วผู้ขับขี่ 100% ไม่สวมใส่หมวกกันน็อก

ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข “ผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในชุมชน 50% ไม่มีคู่กรณี” นั้นก็คือ “เมาแล้วขับมอเตอร์ไซค์ล้มเอง”เรื่องนี้คงเป็นความเสี่ยงในช่วงเทศกาลซ้ำซากอยู่ตลอดเสมอ

ประการต่อมา “การตั้งรับป้องกันอุบัติเหตุช่วงเทศกาล” คงเริ่มตั้งแต่ “คนออกเดินทาง” ต้องจัดมาตรการคุมเข้มการใช้ความเร็ว ควบคุมเปลี่ยนช่องทางจราจรกะทันหัน และจัดการรถวิ่งไหล่ทางในถนนสายหลัก

เน้นย้ำ “สาเหตุการเสียชีวิตสูงที่สุดเป็นช่วงคนกลับถึงบ้านแล้วเฉลิมฉลองกัน” เรื่องนี้ต้องจัดการการรวมกลุ่มตั้งวงดื่มสุราตามชุมชน ฉะนั้น “ผู้นำชุมชนควรมีกิจกรรมเชิงรุกจัดการผู้ดื่มสุรากระจายอยู่ตามบ้าน” เพราะการตั้งด่านชุมชน หรือด่านตำรวจไม่อาจครอบคลุมถนนทั้งประเทศ 7 แสนกว่า กม.ได้แน่นอน

หากเป็นไปได้ “ตั้งด่านชุมชนตรวจทางเข้า-ออกก็จะดี” เพื่อป้องกันคนเมาเข้า-ออกชุมชน อันเป็นความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุในถนนสายรอง หรือถนนสายหลัก ทั้งสามารถสกัดกั้นคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 นำเชื้อออกไปแพร่กระจายยังพื้นที่อื่นเป็นวงกว้างอีกด้วย แต่มาตรการนี้ก็คงไม่ง่ายอาจต้องเป็นชุมชนเข้มแข็งจริงๆ

“ในแง่คำว่าทำงานเชิงรุก ต้องมิใช่การตั้งด่านชุมชนแล้วเจ้าหน้าที่พากันนั่งเฝ้าอยู่ในเต็นท์อย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ แต่ควรต้องเชิงรุก ลุกจากเต็นท์ออกไปปฏิบัติงานตามชุมชนจริงๆ เพราะช่วงเทศกาลมักมีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุกระจายตัวอยู่ทุกจุดที่จัดกิจกรรมเล่นน้ำ หรืองานรื่นเริงสังสรรค์กันในหมู่บ้านเป็นหลัก” นพ.ธนะพงศ์ว่า

สิ่งที่อยากสะท้อนโดยเฉพาะ “ผู้บังคับบัญชาต้องเปลี่ยนกรอบความคิด (Mindset)” ในการเปลี่ยนวิถีการทำงาน “เน้นให้คุณค่าการปฏิบัติงานในพื้นที่ป้องกันจริงๆ” ที่ไม่จำเป็นต้องระวังป้องกันอยู่แต่ในเต็นท์อย่างเดียวสังเกตจาก “เจ้าหน้าที่” มักถ่ายภาพปฏิบัติงานยืนอยู่เต็นท์รายงานผู้บังคับบัญชาอยู่เสมอ

แม้แต่เวลา “ผู้บังคับบัญชา” ออกตรวจการทำงานมักลงพื้นที่เฉพาะ“เต็นท์ด่านตรวจ” กลายเป็นการตอกย้ำ “เชิงสัญลักษณ์ให้ผู้ปฏิบัติงานนั่งเฝ้าเต็นท์” แต่ว่าคนเมาสุราที่มีความเสี่ยงกลับกระจายอยู่เต็มพื้นที่ที่ไม่มีแค่จุดตั้งเต็นท์ด่านตรวจเท่านั้น

ดังนั้นถึงเวลาสร้างวัฒนธรรมการตรวจปฏิบัติงานในเชิงรุกระดับชุมชนแท้จริงเสียที

ถัดมา “เรื่องการป้องกันอุบัติเหตุลดการเสียชีวิตนี้” ควรต้องใช้ต้นทุนทางสังคมที่ทุกชุมชนสร้างกันขึ้นมาตั้งแต่ช่วงการระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะความเข้มแข็งสามัคคีร่วมกันบริหารจัดการป้องกันโรคระบาดในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ตั้งด่านตรวจคัดกรอง การสกัดกั้นกลุ่มเสี่ยงเข้า-ออกทุกช่องทางของหมู่บ้านนั้น

แล้วนำมาตรการนี้มาถอดบทเรียนปรับใช้ด้วยหลักของความสัมพันธ์แบบเครือญาติ หรือเพื่อนบ้านร่วมชุมชนอันเกิดจากความห่วงใยตักเตือนกัน “เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ” เพราะด้วยคนไทยถ้าใช้อำนาจบังคับมักต่อต้านยิ่งจะเป็นการยั่วยุ แล้วก็เชื่อว่าถ้าทำได้จะสามารถลดความสูญเสียเจ็บตายช่วงสงกรานต์ได้ไม่น้อยด้วยซ้ำ

ย้ำว่าความเสี่ยงปรับเปลี่ยนตลอด “ภาครัฐ” ต้องวิเคราะห์จัดการเชิงรุกด้วยการถอดบทเรียนโมเดลมาตรการป้องกันโควิด “สร้างความตระหนักของชุมชนให้มีส่วนร่วม” นำมาปรับใช้ป้องกันความสูญเสียลดอุบัติเหตุเจ็บตายบนท้องถนนในช่วงเทศกาลนี้.

ที่มา: Thairath Online

© 2018 - www.roadsafetythai.org All rights reserved