อุบัติเหตุรถนักเรียน วังวนต่างคนต่างทำ  


30 ก.ค. 2565 2561 แผนงาน : ศวปถ.& มนป.   


เมื่อโรงเรียนเปิดเรียนมักมาพร้อมกับ “ข่าวรถนักเรียนเกิดอุบัติเหตุ” เป็นปัญหาที่มีแนวโน้มเกิดถี่สูงขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นเหตุสะเทือนใจให้สังคมสร้างความเศร้าโศกเสียใจแก่ผู้สูญเสียอย่างเลี่ยงไม่ได้

แม้ที่ผ่านมา “หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน” พยายามหาแนวทางกำหนดมาตรฐานให้รถรับส่งนักเรียนปลอดภัยอยู่ตลอดแต่เท่าที่ “ทีมสกู๊ปหน้า 1” ลงพื้นที่ตรวจสอบยังพบรถรับส่งที่ไม่ได้มาตรฐานอีกมาก ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ส่วนบุคคลดัดแปลงสภาพไม่เป็นไปตามหลักความปลอดภัย และนำมาใช้รับจ้างรับส่งนักเรียนนี้

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผจก.ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ให้ข้อมูลว่า แต่ละปีมีรถรับจ้างรับส่งนักเรียนเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างสูงสาเหตุปัจจัยความเสี่ยงแบ่งได้ 3 เรื่องหลัก คือ เรื่องแรก...“อุบัติเหตุจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ไปโรงเรียน” ด้วยค่าใช้จ่ายบริการรถรับจ้างรับส่งไปโรงเรียนมีต้นทุนสูงขึ้น

ผู้ปกครองต้องยอมให้ลูกขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ไปโรงเรียน แม้รู้ดีว่า “เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง” แต่หากคำนวณค่าใช้จ่ายจะถูกกว่าการนั่งรถรับส่ง “แล้วยิ่งพ่อแม่ที่มีลูก 2 คน หรือสังคมชนบท” ที่มีระบบรถประจำทางสาธารณะน้อยต้องนั่งรถหลายต่อด้วยแล้ว การขับขี่มอเตอร์ไซค์ไปโรงเรียนถือว่าสะดวกที่สุด

ปัญหามีต่อว่า “ถนนขนาด 4 เลนขึ้นไปนิยมตัดผ่านชุมชน” ผลคือกิจกรรมเมืองมักจะตามไปด้วย สังเกตจาก “ความเจริญของเมืองต้องตั้งอยู่ริมถนนสายหลักเสมอ” ในจำนวนนี้มีโรงเรียนมัธยมศึกษามักมาตั้งอยู่ริมถนนด้วยเช่นกัน ทำให้นักเรียนขับขี่มอเตอร์ไซค์ไปโรงเรียนต้องใช้ถนนร่วมกับรถยนต์ที่ใช้ความเร็วสูง

โดยเฉพาะถนน 4 ช่องทางแบบเกาะสี “ผู้ขับขี่” มักมองเห็นเป็นถนนโล่งกว้างเหมือนไม่มีเกาะกลางถนน เอื้อต่อการแซงบนช่องเกาะสี แต่คนข้ามถนน รถมอเตอร์ไซค์ รถจักรยาน กลับใช้เกาะสีนี้จอดรอข้ามอีกฟากถนนจนเสี่ยงต่อการชนกันขึ้น ยิ่งกว่านั้นยังเสี่ยงต่อรถยนต์อีกฝั่งฟากถนนเสียหลักหลับในพุ่งข้ามมาชนปะทะกันได้ง่าย

เหตุนี้ในปี 2564 มีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 16,976 ราย สาเหตุหลักมาจาก จยย. 80% หรือ 1.4 หมื่นราย จำนวนนี้มีเยาวชนอายุ 15-24 ปี 2,800 ราย และเด็กต่ำกว่า 15 ปี 800 กว่าคน สัดส่วนการเสียชีวิตค่อนข้างสูงมากนี้สามารถเทียบได้กับจำนวนนักเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่ 1 โรงเลยด้วยซ้ำ

ต่อมาเรื่องที่สอง...“อุบัติเหตุจากรถรับส่งนักเรียน” นับแต่การระบาดโควิด-19 คลี่คลายดีขึ้น “โรงเรียนเปิดการเรียนการสอน Onsite เต็มรูปแบบ” มาตั้งแต่เดือน พ.ค.2565 ผู้ปกครองหันมาใช้รถรับจ้างรับส่งลูกหลานไป-กลับโรงเรียน ทำให้ในเดือน พ.ค.เกิดอุบัติเหตุ 5 ครั้ง และเดือน มิ.ย. 7 ครั้ง

แน่นอนว่า “โควิด–19” ทำให้โรงเรียนหยุดยาวนี้ผู้ขับรถรับจ้างรับส่งนักเรียนบางส่วนนำรถไปหารายได้ทางอื่น ทำให้รถเสื่อมสภาพขาดการบำรุง และบางคนไม่มีรายได้แล้วนำรถมารับส่งนักเรียนก่อน เพื่อได้เงินมาค่อยซ่อมภายหลัง เพราะต้องเข้าใจว่ารถรับจ้างรับส่งนี้เป็นรถส่วนบุคคลดัดแปลงมีตั้งแต่รถตู้ รถกระบะ หรือรถหกล้อ

โดยที่ “ผู้ปกครอง” ตกลงราคาค่าจ้างกับเจ้าของรถกันเองแล้วยิ่งกว่านั้น “รถรับจ้างประเภทนี้มากกว่า 90% ไม่จดทะเบียนถูกต้อง” เพื่อให้สามารถนำรถใช้วิ่งอย่างอื่น เพราะด้วยรถโรงเรียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกฯ และกฎกระทรวงศึกษาธิการนั้นมีเงื่อนไขข้อกำหนดในการปฏิบัติค่อนข้างเข้มงวดรัดกุม

ทั้งที่นั่งห้ามเกิน 12 คน ต้องมีข้อความรถโรงเรียน มีเครื่องมือฉุกเฉิน คนขับได้รับอนุญาต เมื่อเงื่อนไขเยอะ “คนขับ” จึงเลี่ยงใช้รถส่วนบุคคลรับจ้างโดยไม่จดทะเบียน ทำให้อุบัติเหตุมักเป็นรถรับจ้างมิใช่รถโรงเรียน

เช่น กรณีรถตู้รับส่งนักเรียนใน จ.ปทุมธานี พุ่งตกลงคลอง “โชคดีบาดเจ็บกันเล็กน้อย” ตามคำให้การคนขับยอมรับว่า “มีอาการวูบ” ที่เป็นอาการของคนพักผ่อนน้อยมีโรคประจำตัว ทั้งที่จริง “ผู้มีอาการวูบควรได้รับการตรวจร่างกายก่อนขับรถเสมอ” แต่บ้านเราขาดระบบตรวจสุขภาพความพร้อมของคนขับรถรับจ้างกลุ่มนี้

ถัดมายังมี “รถประจำทางหารายได้พิเศษ” ด้วยการนำรถมาใช้รับจ้างรับส่งนักเรียนด้วย ปัญหาคือรถกลุ่มนี้มักเร่งทำเวลาเพื่อให้ทันรอบวิ่งประจำทาง ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เช่น รถโดยสารหกล้อทะเบียน 10-XXXX นครพนม คนขับอ้างว่า “เบรกแตก” แต่ด้วยรถสาธารณะหมวดนำหน้าเลข 10 ต้องตรวจสภาพทุก 6 เดือน

เลยสงสัยว่ารถคันเกิดเหตุนี้ตรวจสภาพรถที่ใด? เพื่อจะตรวจสอบหาความรับผิดชอบ ตั้งแต่หน่วยงานตรวจสภาพรถ และผู้กำกับดูแล มิใช่ว่าอ้างเบรกแตกแล้วทุกอย่างก็จบลง โดยไม่มีการแก้ปัญหาเชิงระบบ

เหมือนกรณีไฟไหม้สำเพ็งที่ตรวจสอบต้นเพลิงมาจากหม้อแปลงระเบิด ทำให้เรียกร้องค่าเสียหายจาก “การไฟฟ้า” ในเรื่องอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนก็คงต้องถึงเวลาโยงสิ่งที่เกิดขึ้นไปสู่ความรับผิดชอบร่วมเช่นกัน

ย้ำตามหลักการ “กฎกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ.2562” เป็นกฎระเบียบที่มีมาตรการครอบคลุมรัดกุมเข้มงวดมาก ในด้านความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนไม่ว่าจะเป็นการตรวจสภาพ ประเมินคนขับ แต่สุดท้ายสิ่งที่เขียนบนกระดาษนั้นกลับไม่สอดรับความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง

ดังนั้น สิ่งที่อยากเห็น “โรงเรียนต้องเป็นตัวหลัก” ตั้งอนุกรรมาธิการด้านความปลอดภัยรถรับจ้างรับส่งนักเรียน อันมีศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โรงเรียน และกรมการขนส่งทางบก เข้ามาร่วมกันทบทวนมาตรการตรวจสอบ ควบคุม กำกับ ทั้งด้านมาตรฐานโครงสร้างตัวรถ และคนขับให้เป็นแบบเดียวกับรถสาธารณะ

วิเคราะห์เส้นทางจุดรับส่งนักเรียนที่มีความปลอดภัย เพราะด้วยที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานนั้นมักถือกฎหมายคนละฉบับ “ต่างคนต่างทำ” จนไม่สามารถบูรณาการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมได้

ในอนาคต “องค์กรส่วนท้องถิ่น” ต้องมีบทบาทสำคัญ “ปลดล็อกใช้งบอุดหนุนรถรับจ้างรับส่งนักเรียนได้” เพื่อการเดินทางไปโรงเรียนมีความปลอดภัย ให้เป็นอีกทางออกหนึ่งที่ชุมชนจะได้รับประโยชน์นี้

เช่น กรณี “สหรัฐอเมริกา” ส่วนใหญ่เด็กนักเรียนมักเรียนฟรีตามสวัสดิการของรัฐ “การจัดหารถรับส่ง” ก็อยู่ภายใต้ข้อกำหนดโดย “ภาครัฐ” สังเกตจากรถนักเรียนมีลักษณะคล้ายกันที่ตัวรถเป็นสีเหลือง ส่วนโครงสร้างค่อนข้างแข็งแรงหนาเทียบเท่ารถถังเลยด้วยซ้ำ

ย้อนมาดู “ประเทศไทย” รัฐบาลกำหนดสเปกรถมาตรฐานกลางไว้แต่ไม่มีเงินอุดหนุน (subsidized) ทำให้ผู้ประกอบการเลี่ยงใช้รถส่วนบุคคลแทน หากใช้สเปกรถตามมาตรฐานกลางจะไม่สามารถวิ่งงานอื่นได้เลย

พูดง่ายๆต้องลงทุนทำเฉพาะรถโรงเรียนเท่านั้นที่ต้องมีการการันตีผู้โดยสารได้อย่างโรงเรียนเอกชน แต่หากเป็นต่างจังหวัดเฉพาะรับส่งนักเรียนรายได้ไม่พอส่งค่ารถ ทำให้ช่วงกลางวันต้องออกรถวิ่งรับจ้างอย่างอื่นด้วย

เรื่องที่สาม...“ลืมเด็กเล็กในรถรับส่งโรงเรียน” ที่มีต้นเหตุซับซ้อนจาก “ผู้ขับรถไม่อาจตรวจสอบเด็กทุกคนได้” แค่จดจำเส้นทางบ้านเด็กแต่ละคนก็ลำบากมาก ดังนั้น ต้องมีพี่เลี้ยงประจำรถค่อยช่วยตรวจสอบด้วย

ตอกย้ำว่า “พื้นฐานป้องกันการลืมเด็กเล็กในรถ” ต้องมีระบบตรวจสอบคล้ายกับ “สายการบิน” ที่มีระบบดับเบิลเช็กผู้โดยสารก่อนนำเครื่องขึ้นบินเสมอ “รถโรงเรียน” ก็ควรมีระบบนี้เพื่อมิให้เกิดข้อผิดพลาด

อันเป็นโจทย์สำคัญเชิงระบบ “เพื่อออกเป็นกฎหมาย” เช่น รัฐฟลอริดาของสหรัฐอเมริกาที่เคยมีเคสลืมเด็กในรถเสียชีวิตเยอะมาก ทำให้แก้ไขด้วยเทคนิค “ทุกครั้งที่ดับเครื่องยนต์ออดท้ายรถจะดังขึ้น” เพื่อให้คนขับเดินไปท้ายรถปิดออดนี้ แต่ในระหว่างการเดินไปท้ายรถจะสามารถตรวจเช็กว่ามีเด็กหลงเหลืออยู่อีกหรือไม่

นับแต่นั้น “ไม่เคยมีเหตุลืมเด็กเกิดขึ้น” สุดท้ายรัฐฟลอริดาออกเป็นกฎหมายให้รถนักเรียนต้องติดตั้งอลาร์มเช็กแก้ไขเชิงระบบอย่างมีประสิทธิภาพ แต่สำหรับ “ในไทย” ผู้ใหญ่มักติดกับดักทางความคิดในการกล่าวอ้างสั่งการแก้ปัญหาไปแล้ว “จะด้วยหนังสือหรือวาจาก็ตาม” โดยไม่ออกเป็นกฎหมายสุดท้ายไม่นานก็เกิดเหตุซ้ำอีก

นี่เป็นปัจจัย “อุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียน” มีสาเหตุหลายมิติต้องจัดการเชิงระบบแบบบูรณาการ “ทุกเคสต้องมีการสอบสวนโยงหาหน่วยงานให้รับผิดชอบ” แล้วอุบัติเหตุนี้จะถูกแก้ไขโดยทันที.

ที่มา: www.thairath.co.th

© 2018 - www.roadsafetythai.org All rights reserved