กระตุก‘ชาวสิบล้อ’!ปธ.สมาพันธ์ขนส่งฯแนะขอบเขต จัดชุดใหญ่ไฟกระพริบ  


10 ส.ค. 2565 2298 แผนงาน : ศวปถ.& มนป.   


ปธ.สมาพันธ์ขนส่งฯแนะชาวลิบล้อ แต่งรถได้แต่ต้องมีขอบเขต บังโคลนกว้าง-ไฟสว่างไปอันตรายเพื่อนร่วมทาง

8 สิงหาคม 2565 นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสมาพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่ กองบังคับการตำรวจทางหลวง (บก.ทล.) ประกาศจะเข้มงวดเรื่องการจับกุมดำเนินคดีรถบรรทุกที่ติดไฟส่องสว่างรอบคัน ว่า เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่สมาพันธ์ฯ มองว่าที่ผ่านมามีการแต่งรถกันแบบเลอะเทอะมากเกินไป ซึ่งนอกจากไฟส่องสว่างแล้วยังมีการติดบังฝุ่นหรือบังโคลนที่ล้ำออกไปด้านข้าง เป็นอันตรายต่อยานพาหนะอื่นๆ ที่ใช้เส้นทางร่วมกันด้วย เช่น บังโคลนดีดเศษหินไปโดนกระจกรถคันอื่นๆ หรือสุ่มเสี่ยงที่บังโคลนจะไปเกี่ยวจักรยานยนต์ที่ขี่มาด้านข้าง เป็นต้น 

นายอภิชาติ กล่าวว่า หากไปดูการแต่งรถบรรทุกในต่างประเทศ สหรัฐอเมริกาบ้าง ญี่ปุ่นบ้าง ที่อลังการมาก ก็ต้องย้ำว่าประเทศเหล่านั้นถึงมีการแต่งรถก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด จะติดตั้งอะไรก็ต้องขออนุญาตเพื่อให้รู้ว่าอะไรทำได้-ไม่ได้ เพราะการไปติดตั้งกันเองแล้วไปเปิดในยามค่ำคืนบนเส้นทางเปลี่ยวๆ ผู้ใช้รถคนอื่นๆ ในเส้นทางเดียวกันจะตกใจหรือเปล่า ส่วนแนวคิดที่ว่าติดแล้วเปิดตอนกลางคืนจะทำให้รถคันอื่นๆ มองเห็น ลดความเสี่ยงอุบัติเหตุจากการพุ่งเข้ามาเฉี่ยวชน ตนย้ำว่าติดได้ แต่ไม่ใช่ไปจัดเต็มมากมายขนาดนั้น และควรทำเรื่องขออนุญาตให้เรียบร้อย

“สิ่งที่เขาติดมันเป็นความสุขของเขา มันเป็นเงินของเขาเองนะ เพราะว่าทางเถ้าแก่รถไม่ได้รับผิดชอบตรงนี้ เรื่องบังฝุ่นกับเรื่องติดไฟ ติดได้ เพราะบางถนนมันไม่มีเส้นขาวและไม่มีไฟด้วย แต่มันติดกัน 50-60 ดวง มันก็เกินไป แล้วคุณวิ่งสวนมาจะเห็นทางหรือ?” ประธานสมาพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าว

ด้าน นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวถึงกรณีที่ กองบังคับการตำรวจทางหลวง ประกาศจะเข้มงวดเรื่องการจับกุมดำเนินคดีรถบรรทุกที่ติดไฟส่องสว่างรอบคัน ว่า โดยปกติแล้วในเวลากลางคืนหรือในที่มืด รูม่านตาจะขยาย ดังนั้นเวลาเจอแสงสว่างจ้า เช่น มีรถเปิดไฟสูง หรือเปิดไฟหลายดวงใส่ใบหน้า จะส่งผลให้เกิดสภาวะที่ไม่สามารถมองภาพด้านหน้าได้ จึงเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

ส่วนความเชื่อที่ว่ารถบรรทุกควรติดไฟส่องสว่างให้มากเข้าไว้เพื่อให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะอื่นๆ ที่ใช้เส้นทางเดียวกันมองเห็นโดยเฉพาะในเวลากลางคืนบนถนนที่หลายเส้นทางไม่มีไฟส่องสว่าง จะได้ไม่เกิดอุบัติเหตุจากการพุ่งเข้ามาเฉี่ยวชนเพราะมองไม่เห็นนั้น ในความเป็นจริงสำหรับไฟหน้าและไฟท้ายที่ติดรถอยู่ หากหมั่นดูแลรักษาให้ใช้งานได้ ซึ่งรวมถึงการทำความสะอาดล้างคราบฝุ่นหรือโคลนที่เกาะอยู่ออกไป ก็เพียงพอให้รถคันอื่นๆ มองเห็นแล้ว หรือหากจะให้ปลอดภัยมากขึ้น ด้านท้ายรถควรติดสติ๊กเกอร์สะท้อนแสง ก็จะทำให้รถคันอื่นที่ขับตามมามองเห็นได้

“ถ้าจะติดเพิ่มก็ควรจะเพิ่มในตำแหน่งที่เป็นมุมที่จะกดลง ไม่ใช่มุมเสยขึ้น แล้วก็ไม่จำเป็นต้องติดเป็นแผง ติดเพิ่มในลักษณะที่ช่วยกระจายแสงให้เห็นเพิ่มขึ้นอีกสัก 1-2 ดวง สมมติเขาขับสวนกับรถเก๋ง รถเก๋งก็จะสูงประมาณ 1-1.3 เมตร แล้วตัวรถบรรทุกตำแหน่งที่ติดจะอยู่ประมาณ 1-1.2 เมตร ขอบมันนะ ทีนี้ถ้าเกิดเขาวางองศาของไฟไม่ได้ก้มลงแต่สาดเข้ามา มันก็มีโอกาสให้รถที่สวน เช่น เราขับรถเก๋งสวนกับเขา มันจะแยงตา มันเหมือนเจอไฟสูง ซึ่งตรงนี้มันจะมีการประเมินหรือการทดสอบที่ขนส่ง เขาจะมีเกณฑ์วัดแสง” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว

นพ.ธนะพงศ์ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม การติดไฟส่องสว่างเพิ่มเติมของรถบรรทุก หากติดตั้งในตำแหน่งที่เหมาะสมก็จะเกิดประโยชน์ เช่น ติดที่ด้านข้างของตัวรถหรือส่วนพ่วง เพราะเมื่อเวลารถบรรทุกหรือรถพ่วงเลี้ยวหรือกลับรถ รถคันอื่นๆ ก็จะสามารถมองเห็นจากระยะไกลและเตรียมตัวชะลอหรือหลบได้  แต่ก็ต้องระมัดระวังอย่าติดให้มีแสงสว่างจ้าจนเกินไป นอกจากนี้สำหรับการติดสติ๊กเกอร์สะท้อนแสงที่บริเวณท้ายรถ ตนเห็นว่าควรเป็นข้อปฏิบัติภาคบังคับ เพราะในต่างประเทศเรื่องนี้ถือเป็นกฎหมาย

ที่มา: https://www.naewna.com/

© 2018 - www.roadsafetythai.org All rights reserved