ปมอุบัติเหตุปีใหม่พุ่งสูง ปัญหาซ้ำซากแต่แก้ไม่ง่าย  


29 ธ.ค. 2565 2274 แผนงาน : ศวปถ.& มนป.   


เมื่อโควิด-19 คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ “เทศกาลปีใหม่ 2566” ก็กลับมาคึกคักอีก “คนไทยหลายครอบครัว” วางแผนเดินทางท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนาเยี่ยมญาติร่วมเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่านี้

ทำให้กลายเป็น “ปัจจัยเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มเมาแล้วขับ” แม้ว่าที่ผ่านมา “ภาครัฐ” จะมีมาตรการคุมเข้มเพิ่มจุดตรวจเส้นทางเข้า-ออกชุมชนมากเพียงใดแต่ก็ไม่อาจยับยั้งความสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ให้น้อยลงได้ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผจก.ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน บอกว่า

ปมอุบัติเหตุปีใหม่พุ่งสูง ปัญหาซ้ำซากแต่แก้ไม่ง่าย

จริงๆแล้วถ้าย้อนดู “ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565” เริ่มเห็นสัญญาณการเดินทางบนถนนขาเข้า-ขาออกเพิ่มสูงขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปีใหม่ 2564 ส่วนใหญ่จะทยอยออกเดินทางเลี่ยงรถติดกันตั้งแต่วันที่ 27-28 ธ.ค.2564 อันเป็นช่วงก่อนเข้าสู่ “7 วันอันตราย” ทำให้สามารถใช้ความเร็วได้กลายเป็นว่า 2 วันนั้นมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 152 ราย แสดงว่าช่วงเทศกาลนั้น “ประชาชน” มักให้ความสำคัญระมัดระวังแค่ 7 วันอันตรายเท่านั้น

แต่เมื่อเข้าสู่ “7 วันอันตรายช่วงปีใหม่ 2565” มีอุบัติเหตุรวม 2,707 ครั้ง บาดเจ็บ 2,672 ราย เสียชีวิต 333 ราย ปัจจัยการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก...“ช่วงการเดินทาง” โดยประชาชนออกเดินทางช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้รถสะสมอยู่บนถนนสายหลักหนาแน่น

การจราจรติดขัดส่งผลให้ผู้ขับขี่เกิดความเหนื่อยล้าสะสมอันมาจากการหักโหมอดหลับอดนอนต้องเร่งทำงานจนพักผ่อนไม่เพียงพอนำมาสู่ “อาการหลับใน” แล้วบวกกับปัจจัยร่วมของพฤติกรรมการขับรถเร็ว และไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย กลายเป็นการเกิดอุบัติเหตุที่มีความรุนแรงมากกว่า 80% นำไปสู่การ สูญเสียเป็นจำนวนมาก

ปมอุบัติเหตุปีใหม่พุ่งสูง ปัญหาซ้ำซากแต่แก้ไม่ง่าย

ตามข้อมูลช่วงปีใหม่ 2565 ปรากฏพบการเกิดอุบัติเหตุเฉพาะบนถนนสายหลัก 1,374 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 154 ราย ถ้าเทียบเป็นดัชนีความรุนแรงของการเกิดอุบัติเหตุ 100 ครั้งจะมีผู้เสียชีวิต 11.2 ราย

ต่อมาระยะที่สอง...“ความเสี่ยงช่วงการฉลองรับปีใหม่” ที่เป็นโจทย์สำคัญของพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ในกิจกรรมงานรื่นเริงเคาต์ดาวน์คืนวันที่ 31 ธ.ค.-1 ม.ค. ทำให้มีการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดโดยเฉพาะผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ออกไปร่วมกิจกรรมมีอัตราการเสียชีวิต 82% เพิ่มขึ้นจาก 74% ในช่วงปกติทั่วไป

แล้วปัญหาแก้ไม่ตกก็คือ “ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต” เป็นผู้ขับขี่ หรือซ้อนท้ายโดยไม่สวมหมวกกันน็อก 85% จำนวนนี้ 1 ใน 3 เป็นวัยทำงานอายุ 30-39 ปี และเด็กเยาวชน 20% สาเหตุจากความประมาทคิดว่า “ขับขี่ใกล้บ้านไม่น่ามีอันตราย” แต่ความจริงแล้วอุบัติเหตุมักเกิดในช่วงเดินทางกลับหลังจากการดื่มเฉลิมฉลองมาแล้ว

มีข้อสังเกตว่า “อุบัติเหตุบนถนนสายหลัก” ช่วงเดินทางนั้นลดการ สูญเสียลง 28% ส่วนถนนสายรองในชุมชนลดลง 15% นั่นแปลว่ามาตรการป้องกันที่ออกมานั้นสามารถควบคุมความเสี่ยงในช่วงการเดินทางได้ดีขึ้น

ปมอุบัติเหตุปีใหม่พุ่งสูง ปัญหาซ้ำซากแต่แก้ไม่ง่าย

ปัญหามีอยู่ว่า “ในช่วง 3 วันกลางเทศกาลเฉลิมฉลองลดลงเพียง 8%” สะท้อนว่าตัวเลขการเสียชีวิตจากการเฉลิมฉลองลดลงไม่เท่าช่วงการเดินทางนั่นก็แปลว่า “ช่วงการเฉลิมฉลองปีใหม่ยังไม่มีมาตรการใดสามารถจัดการได้” ดังนั้นปีใหม่ 2566 คงต้องมุ่งเน้นมาตรการจัดการในช่วงการเฉลิมฉลองให้เข้มงวดมากขึ้น

อย่างเช่น “พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565” ที่มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย.2565 สาระสำคัญกฎหมายฉบับนี้เน้นเพิ่มโทษข้อหากระทบความปลอดภัยผู้ใช้รถใช้ถนน และเพิ่มโทษผู้กระทำผิดซ้ำเช่นกรณีเพิ่มโทษผู้ขับขี่กระทำผิดซ้ำ “ข้อหาเมาแล้วขับ” ครั้งแรกมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท

แต่หากทำผิดซ้ำภายใน 2 ปี กฎหมายเขียนล็อกไว้ว่า นับแต่วันที่กระทำความผิดครั้งแรกจะถูกเพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 50,000-100,000 บาท และศาลจะลงโทษจำคุกและปรับเสมอ เพราะที่ผ่านมากฎหมายเดิมไม่ได้กำหนดโทษกรณีกระทำผิดซ้ำ กลายเป็นว่าผู้กระทำผิดมัก จำ-ปรับ-รอ โดยไม่มีใครต้องรับโทษจำคุกจริง

ปมอุบัติเหตุปีใหม่พุ่งสูง ปัญหาซ้ำซากแต่แก้ไม่ง่าย

ทำให้คนชอบดื่มแอลกอฮอล์ไม่กลัว “กระทำผิดซ้ำซาก” แต่ครั้งนี้ถ้าเป็นการกระทำผิดซ้ำอีกนั้นต้องถูกลงโทษจำคุกจริงเสมอเพียงแต่ว่า “พ.ร.บ.จราจรฉบับใหม่” ประชาชนรับรู้กันน้อย นั่นก็หมายความว่า “เทศกาลปีใหม่ 2566” อาจเป็นบทพิสูจน์ในการบังคับใช้กฎหมายจัดการกับคนเมาแล้วขับได้ดีขึ้นหรือไม่

ตอกย้ำจุดอ่อนด้วย “มาตรการตรวจจับผู้กระทำความผิดฝ่าฝืนกฎหมาย จราจรด้วยกล้องวงจรปิด” ค่อนข้างเป็นปัญหาจาก “ผู้ฝ่าฝืนไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร” สังเกตจากอัตราการชำระค่าปรับมีเพียง 10% เพราะประชาชนรู้ดีว่า “คดีความผิดตามใบสั่งมีอายุความ 1 ปีนับแต่วันเกิดเหตุ” เมื่อไม่จ่ายก็ไม่มีผลใดๆ

ประการสำคัญก็คือ “ไม่จ่ายค่าปรับก็ไม่มีผลต่อการต่อทะเบียนรถ” กลายเป็นจุดอ่อนให้ผู้ทำผิดไม่เกรงกลัวแล้ว “กระทรวงคมนาคม” กลับนิ่งเฉยไม่ดำเนินการแก้ไขให้สะเด็ดน้ำเสียทีจนเรื่องนี้ถกเถียงกันมานาน

สิ่งนี้ก็มิใช่ทำได้ยากเพียงแต่ว่า “ภาครัฐเอาจริงเอาจังหรือไม่” เพราะหากมีนโยบายบริหารจัดการหน่วยงานที่ดีระหว่าง “ตำรวจและกรมการขนส่งทางบก” ในเรื่องไม่ชำระค่าปรับจราจรอันมีผลในการจ่ายภาษีต่อทะเบียนรถต้องเกิดขึ้นมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว แต่ตอนนี้คาราคาซังค้างท่อไม่ขยับคืบหน้าอะไรเลยด้วยซ้ำ

ปมอุบัติเหตุปีใหม่พุ่งสูง ปัญหาซ้ำซากแต่แก้ไม่ง่าย

เช่นนี้จึงอยากเสนอว่า “ควรใช้ระบบเสียค่าปรับแบบ M–Flow” ตามสถิติอัตราชำระค่าบริการสูงถึง 95% แต่การชำระค่าปรับใบสั่งมีเพียง 10% สะท้อนความแตกต่างกันถึง 10 เท่า เพราะด้วย “ระบบ M–Flow ใช้เอาต์ซอร์ส (Outsource) หรือบริษัทเอกชน” เป็นผู้ดำเนินการติดตามเรียกเก็บเงินใช้บริการ หรือผู้ไม่จ่ายค่าบริการนั้น

ทำให้เกิดความจริงจังต่อ “การเรียกเก็บเงินค่าบริการ” อันเป็นผลประโยชน์ของบริษัทเอกชนที่ต้องได้รับนั้น แต่เมื่อเทียบกับ “ระบบการจ่ายค่าปรับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายจราจรแบบจดหมาย” กรณีผู้ไม่จ่ายค่าปรับนั้นกลับไม่มีใครสนใจเพราะอย่างไรเสีย “เจ้าหน้าที่รัฐ” ก็ไม่ได้รับผลกระทบคงได้รับเงินเดือนเป็นปกติเช่นเดิม

“เหตุนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทบทวนกระบวนการชำระใบสั่งเรียกปรับแบบจดหมายใหม่ ด้วยการเชื่อมโยงระบบให้เห็นว่า ภาครัฐแสดงความจริงจังกับกรณีผู้ไม่จ่ายค่าปรับนั้นอันมีผลต่อการต่อทะเบียนรถ เพื่อเป็นการเพิ่มมาตรการป้องกันคุมเข้มผู้ฝ่าฝืนกฎหมายจราจรในการลดอุบัติเหตุทางถนน” นพ.ธนะพงศ์ว่า

ปมอุบัติเหตุปีใหม่พุ่งสูง ปัญหาซ้ำซากแต่แก้ไม่ง่าย

ย้อนมาดูความเสี่ยงอุบัติเหตุช่วงปีใหม่อีกประการคือ “รถโดยสารสาธารณะ” ด้วยปีที่แล้วมีการระบาดโควิด-19 ทำให้ประชาชนใช้บริการน้อย แต่ว่าปีใหม่ 2566 คาดว่าจะมีผู้มาใช้บริการรถโดยสารเดินทางกลับภูมิลำเนา และท่องเที่ยวในช่วงหยุดยาวเพิ่มขึ้น ทำให้รถโดยสารในระบบไม่เพียงพอต้องใช้รถทัศนาจรเข้ามาเสริม

ย้ำเนื่องจาก “รถทัศนาจรนี้ไม่ได้วิ่งประจำมักไม่คุ้นชินเส้นทาง” แล้วบางคันอาจออกวิ่งรับจ้างทั่วไปมาก่อน “กลายเป็นพักผ่อนไม่พอต้องเจอการจราจรติดขัดช่วงเทศกาลซ้ำอีก” ผลตามมาก็อาจเกิดการเหนื่อยล้าสะสมนำไปสู่ “หลับในเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้” ดังนั้น บขส.ต้องดูแลตรวจสภาพรถ และคนขับให้พร้อมด้วย

ปมอุบัติเหตุปีใหม่พุ่งสูง ปัญหาซ้ำซากแต่แก้ไม่ง่าย

ต่อมาคือ “การตั้งจุดตรวจ–จุดบริการประชาชน” ตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณจะมีการปรับเพิ่มมาตรการมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นปีใหม่นี้อยากให้เน้น “ด่านชุมชน” ต้องมีมาตรการเชิงรุกด้วยการลุกออกจากเต็นท์ไปปฏิบัติงานในชุมชน “มิใช่นั่งเฝ้าเต็นท์” เพราะช่วงเทศกาลมักมีอุบัติเหตุจากงานรื่นเริงสังสรรค์ในหมู่บ้านเป็นหลัก

ดังนั้นเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงการสูญเสียในช่วงปีใหม่ควรต้องเริ่มตั้งแต่ “ต้นน้ำ” ด้วยเราห้ามให้คนในชุมชนดื่มแอลกอฮอล์ในเทศกาลเฉลิมฉลองไม่ได้ แต่สามารถจำกัดพื้นที่การดื่มในบ้านไม่ต้องออกไปไหน แล้วถ้าไม่ไหวต้องหยุดห้ามขับขี่รถเดินทางเป็นอันขาด ดังนั้นเมื่อดื่มกินแต่ในบ้านไม่ออกไปไหนอุบัติเหตุย่อมไม่เกิดขึ้น

ปมอุบัติเหตุปีใหม่พุ่งสูง ปัญหาซ้ำซากแต่แก้ไม่ง่าย

สุดท้ายฝากไว้ว่า “พี่น้องประชาชน” ที่มีแผนเดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 ต้องตรวจสอบความพร้อมของรถ ผู้ขับขี่ควรพักผ่อนให้เพียงพอ งดการดื่มแอลกอฮอล์ และปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อเราจะได้กลับภูมิลำเนา และท่องเที่ยวอยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุข...

ที่มา : https://www.thairath.co.th/

© 2018 - www.roadsafetythai.org All rights reserved