กรณี เสี่ยเบนท์ลีย์ ช่องว่างทางกฎหมาย หรือเจ้าหน้าที่ละเลย  


16 ม.ค. 2566 2466 แผนงาน : ศวปถ.& มนป.   


"...กรณีดังคดี 'เสี่ยเบนท์ลีย์' ขับรถชนบนทางด่วนซึ่งสังคมตั้งคำถามถึงมาตรฐานการปฏิบัติงานของตำรวจที่ไม่ให้ 'เสี่ยเบนท์ลีย์' เป่าเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ รวมถึงช่องโหว่ทางกฎหมายนั้น ในสายตาสังคมมองว่ากรณีนี้เป็นการปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามกฎหมายชัดๆ แต่ในสายตาของตำรวจอ้างว่า มีเหตุผล เช่น เจ็บหน้าอก และกลัวเป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์แล้วผลที่ออกมาจะไม่ได้มาตรฐาน..."


กรณีดังคดี 'เสี่ยเบนท์ลีย์' ขับรถชนบนทางด่วนซึ่งสังคมตั้งคำถามถึงมาตรฐานการปฏิบัติงานของตำรวจที่ไม่ให้ 'เสี่ยเบนท์ลีย์' เป่าเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ รวมถึงช่องโหว่ทางกฎหมายนั้น ในสายตาสังคมมองว่ากรณีนี้เป็นการปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามกฎหมายชัดๆ แต่ในสายตาของตำรวจอ้างว่า มีเหตุผล เช่น เจ็บหน้าอก และกลัวเป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์แล้วผลที่ออกมาจะไม่ได้มาตรฐาน

ดังนั้น บทเรียนของเรื่องนี้ จะทำอย่างไรไม่ให้เป็นแบบอย่างให้คนในสังคมอ้างไม่เป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในอนาคต เพื่อไม่ให้กลายเป็นข้ออ้าง 'เจ็บหน้าอก' และทำให้ระบบ ระเบียบการเป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์เสียไป ซึ่งสุดท้ายตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่จะลำบากในการบังคับใช้ เพราะทุกวันนี้คนตั้งคำถาม เรื่องสองมาตรฐานอยู่แล้ว 

ตัวช่วยที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้คือ การมีระบบที่ชัดเจน เช่น ถ้ามีการเกิดเหตุรถยนต์ชน เกิดความเสียหาย เกิดมีผู้เสียชีวิต ต้องมีการตรวจวัดแอลกอฮอล์ทุกราย และต้องทำภายในกี่นาที ซึ่งตามข้อกำหนดตามหลักวิชาการ เพื่อลดความคลาดเคลื่อน ต้องตรวจภายใน 1 ชม. 

การอ้างว่า ตรวจเลือดได้มาตรฐานมากกว่านั้น 'ไม่จริง' เพราะเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ที่ได้มาตรฐาน จะได้ค่าที่เทียบเท่ากับการตรวจเลือด แต่มีข้อดีตรงที่ตรวจได้เร็วกว่า และสามารถใช้เป็นหลักฐานส่งฟ้องศาลได้เลย 

ในบางประเทศ เช่น อังกฤษ สหรัฐ ศาลจะไม่รับหลักฐานการเจาะเลือด หลังเกิดเหตุ 3 ชม. ถือว่า เป็นหลักฐานที่คลาดเคลื่อน ดังนั้น ไทยต้องล็อกเรื่องเงื่อนเวลา ในการตรวจวัดแอลกอฮอล์หลังเกิดเหตุ เช่น ภายใน 1 หรือ 2 ชม.

การที่ตำรวจออกพูดในลักษณะนี้ จะส่งผลทำให้การทำงานต่อไปยากขึ้น การบอกว่าเจาะเลือดให้ผลแม่นยำกว่า หมายความว่าการเป่าเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์บนท้องถนนทุกวันนี้ แสดงว่าเป็นค่าที่คลาดเคลื่อนทั้งหมดหรือไม่

กรณีที่ต้องใช้วิธีเจาะเลือดนั้น มีไว้สำหรับผู้ประสบเหตุที่หมดสติ เป็นคนไข้หนักที่ต้องเข้าห้องฉุกเฉิน หรือซี่โครงหัก เจ็บหน้าอกรุนแรง กรามหัก เป็นต้น แต่การบอกว่าเจ็บหน้าอกเพื่อเป็นข้ออ้างไม่เป่าเครื่องวัดฯ แล้วไปนั่งเคี้ยวหมากฝรั่ง อันนี้เป็นไปไม่ได้ ที่สำคัญเครื่องเป่าแอลกอฮอล์รุ่นใหม่ ๆ มีระบบเซ็นเซอร์ไวมาก แค่เป่าเบาก็แสดงผลแล้ว

อย่างไรก็ตาม กฎหมายกำหนดชัดเจนว่า กรณีผู้ขับขี่ปฎิเสธการเป่าแอลกอฮอล์ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่า 'เมา' จะมีข้ออ้างอื่น ๆ ไม่ได้ 

เทียบเคียงกรณีเสี่ยเบนซ์ที่ชนนักศึกษา ปริญญาโท เมื่อ 5-6 ปีที่แล้วนั้นก็ปฏิเสธไม่เป่า และพอไปที่โรงพยาบาลปฏิเสธไม่เจาะเลือดเพราะอ้างว่ากลัวเข็ม สุดท้ายคดีนี้หลุดข้อหาเมาแล้วขับ เพราะหลักฐานที่ส่งฟ้องศาลที่จะพิสูจน์ว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคนไหนขอให้ตรวจเลือดหรือไม่ ไม่สามารถระบุได้ 

ฉะนั้น เมื่อกลับมาที่กรณีเสี่ยเบนท์ลีย์ การปล่อยให้คนอื่นที่ไม่ใช่พนักงานสอบสวนพาไปโรงพยาบาล ตรงนี้เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องระวังว่าอาจซ้ำรอยเดิมได้ ดังนั้น หลักเกณฑ์ที่กำหนดให้พนักงานสอบสวน สั่งตรวจวุดแอลกอฮอล์ควรกำหนดเป็นข้อปฏิบัติที่ชัดเจน

บทเรียนสำคัญของคดีนี้ ขอเน้นย้ำว่าสุดท้าย เราต้องการระบบที่มีมาตรฐาน สังคมรับรู้ทั่วกัน เพื่อให้ฝ่ายคู่กรณีที่เป็นผู้เสียหาย ร้องขอให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามข้อกำหนด หากเจ้าหน้าที่ไม่ทำตามระเบียบ จะถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้เลย

อย่างไรก็ตาม กรณีนี้เนื่องจากยังไม่มีการออกข้อกำหนดการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจไว้อย่างชัดเจน ผู้เสียหายจึงไม่สามารถฟ้องร้องได้ 

ขณะเดียวกันฝ่ายเจ้าหน้าที่เอง ก็ใช้คำว่า 'ดุลยพินิจ' ซึ่งเป็นคำที่กว้างมาก และขึ้นอยู่กับการตีความ 

สุดท้ายกรณีนี้ข้อหาที่มีการฟ้อง 'เสี่ยเบนท์ลีย์' นั้น หากดูจากพฤติกรรมขับขี่ ถือว่าเข้าข่าย 'ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย' แต่ตำรวจไม่ได้ตั้งข้อหานี้ ทั้งที่เป็นข้อหาที่พนักงานอัยการ สามารถร้องขอให้ศาลยึดรถได้

ดังนั้น คดีนี้แม้จะเป็นบทเรียนที่เกิดขึ้นซ้ำซากที่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่สังคมควรช่วยกันกดดันและจับตาไม่ให้พนักงานสอบสวนหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายเช่นนี้อีก

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน

ที่มา: https://www.isranews.org/

© 2018 - www.roadsafetythai.org All rights reserved