วงจร "ดื่ม-เมา-ขับ-ชน-ตาย" "จริงจัง-เข้มงวด" ลดสูญเสีย  


11 เม.ย. 2559 2214 แผนงาน : ศวปถ.& มนป.   


วงจร "ดื่ม-เมา-ขับ-ชน-ตาย" "จริงจัง-เข้มงวด" ลดสูญเสีย

เมื่อวันจันทร์ ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2559 เวลา 02.00 น.

ถนนเมืองไทยไม่ต่างอะไรกับสนามรบ..คำกล่าวนี้คงไม่เกินจริงนัก หลังข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ประเทศไทยมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน “สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก” เป็นรองเพียงแค่ “ลิเบีย” (Libya) ซึ่งขณะนี้ก็ยังคงมีสงครามกลางเมืองระหว่างกองกำลังติดอาวุธกลุ่มต่างๆ โดยไทยนั้นมีอัตราการเสียชีวิต 36.2 คนต่อประชากร 1 แสนคน ส่วนลิเบียนั้นอยู่ที่ 73.4 คนต่อประชากร 1 แสนคน

สำหรับคนไทย เรื่องราวเหล่านี้อาจจะดู “ชินชา” ไปแล้ว โดยเฉพาะช่วงเทศกาลที่มีการเดินทางหนาแน่นอย่างปีใหม่และสงกรานต์ สถิติ “7 วันอันตราย” ทุกครั้งตัวเลขผู้เสียชีวิตอยู่ที่หลัก “หลายร้อย” ส่วนผู้บาดเจ็บก็หลัก “หลายพัน” บางปี
เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ และแม้บางปีจะลดลงบ้าง แต่ยอดความสูญเสียก็ยังถือว่าสูงด้วยจำนวนข้างต้น ทั้งที่จริงๆ แล้ว สิ่งเหล่านี้น่าจะสามารถลดให้เหลือน้อยที่สุดได้

เพราะสาเหตุสำคัญที่แถลงกันทุกปี..หนีไม่พ้น “ดื่ม-เมา-ขับ”!!!

เวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรายงานวิชาการ “ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อมาตรการปกป้องสิทธิและคุ้มครองความปลอดภัยในการใช้ถนนร่วมกัน (กรณีเมาไม่ขับ)” 22 มี.ค. 2559 ณ สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) อาคารซอฟต์แวร์ปาร์ค ชั้น 16 ถ.แจ้งวัฒนะ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ที่นี่มีการนำเสนอความเห็นหลายประการ เพื่อ “ปฏิรูป” ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมดื่มแล้วขับ ต้นเหตุของอุบัติเหตุบนท้องถนน

ประการแรก..มาตรการ “เมาขับจับยึดรถ” ที่นำมาใช้เป็นครั้งแรกเมื่อช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 ที่ผ่านมา ได้รัเสียง “ชื่นชม” เพราะสามารถลดอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับอย่างได้ผลน่าพอใจ โดย นนทจิตร เนตรพุกกณะ ผู้อำนวยการกองกิจการชุมชนและบริการสาธารณะ กรมคุมประพฤติ กล่าวว่า มาตรการเมาขับจับยึดรถ ถือเป็นมาตรการที่ดี แต่หากจะให้ได้ผลอย่าง “ยั่งยืน” ก็ต้อง “ทำทั้งปี” ไม่ใช่แต่เพียงช่วงเทศกาลเท่านั้น

เพราะหากทำอย่างต่อเนื่อง..ย่อมสร้างความตื่นตัวให้กับประชาชนได้!!!

“ช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าพอเมาสุราขับรถก็ยึดรถเลย เพียงแต่มันอาจจะเป็นช่วงวันเริ่มต้น เลยทำอะไรได้ไม่ชัดเจน แต่ถ้าทำต่อเนื่อง อย่างในช่วงปกตินี่ถ้าตรวจเจอว่าเมาก็ยึดรถเลย ให้เห็นเป็นรูปธรรม” นายนนทจิตร กล่าว

ซึ่งหากย้อนไปในห้วงเวลาหลัง 7 วันอันตรายใหม่ๆ ในครั้งนั้น กฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า สาเหตุหลักของอุบัติเหตุบนท้องถนนช่วง 7 วันอันตรายส่งท้ายปีเก่า 2558-ต้อนรับปีใหม่ 2559 เปลี่ยนไป จากเดิมที่อันดับ 1 คือดื่มแล้วขับมาตลอดทุกปี แต่ปีนี้ลงไปอยู่ในอันดับ 2 โดยการขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด กลายมาเป็นสาเหตุหลักของอุบัติเหตุมากที่สุดแทน

ประการที่สอง..ปัจจุบันตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2557 ระบุว่า ผู้ใดไม่ยอมตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ให้ถือว่าเข้าข่ายขับรถในขณะมึนเมา อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวใช้เฉพาะ “ด่านตรวจบนถนน” เท่านั้น

แต่กรณีเมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่ยานพาหนะ ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่สามารถร้องขอให้แพทย์ช่วยตรวจเลือดคนขับรถที่เข้ารับการรักษาตัวได้หรือไม่? และอย่างไร? ประเด็นนี้ นพ.ธนะพงศ์ จินวงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ต้องมีอำนาจ “ตรวจเลือด”ผู้ขับขี่ที่รักษาตัวอยู่ภายในเวลาที่ไม่ช้าจนเกินไป เพื่อหาปริมาณแอลกอฮอล์และสารเสพติด

จึงต้องมี “แบบฟอร์ม” สำหรับยื่นคำร้องขอ..เพื่อให้มี “ลายลักษณ์อักษร” ไว้เป็นหลักฐาน!!!

“แนวทางปฏิบัติมันยังไม่ถูกระบุไว้ชัด หนึ่งคือพนักงานสอบสวนต้องร้องขอให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเจาะเลือดตรวจภายในเท่าไหร่? ด้วยแบบฟอร์มอะไร? เพราะถ้าร้องขอมันจะกลายเป็นวาจา อย่างกรณีรถเบนซ์ที่เป็นข่าว มีพนักงานสอบสวนได้ร้องขอ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลก็ถามผู้ป่วย ผู้ป่วยก็ปฏิเสธ ทั้งหมดมันเป็นวาจาหมดเลย แนวทางปฏิบัติตรงนี้มันควรจะถูกกำหนดให้ชัดเจน

สองคือต้องมีแบบฟอร์มหรือเครื่องมือพื้นฐานให้ทุกพื้นที่ปฏิบัติเหมือนกัน ว่าจะมีการตรวจแอลกอฮอล์ด้วยเงื่อนไขต่อไปนี้
ทุกคนก็ใช้แบบฟอร์มนี้ โรงพยาบาลก็เซ็นรับทราบว่าพนักงานสอบสวนได้ร้องขอแล้ว ถ้าเขาปฏิเสธมันก็จะอยู่ในระบบ เป็นหลักฐานชัดเจน” นพ.ธนะพงศ์ ระบุ

ประการที่สาม..ผู้จัดการ ศวปถ. ยกตัวอย่างการทำใบขับขี่ในบางประเทศ จะแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ “มือใหม่” กับ “มือเก่า”
โดยมือใหม่หรือผู้ที่เพิ่งได้รับใบขับขี่ครั้งแรก (เทียบได้กับใบขับขี่ชั่วคราวของไทย) กลุ่มนี้จะถูกจำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ให้น้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานปกติ เช่น หากมือเก่ากฎหมายอนุญาตให้มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดไม่เกิน 50 มิลลิกรัม มือใหม่จะต้องอยู่ที่ไม่เกิน 20 มิลลิกรัม เป็นต้น

เพราะทั้ง “วัยวุฒิ” และ “ชั่วโมงบิน” ยังน้อย..!!!

“รถยนต์ส่วนบุคคลในทางสากลเขาแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือนักขับหน้าใหม่ หลายประเทศเขาลดปริมาณแอลกอฮอล์ลงมาเท่าตัว เช่นที่แคนาดาหรือออสเตรเลียจะอยู่ที่ 20 มิลลิกรัม แต่ถ้าได้ใบขับขี่แบบสมบูรณ์แล้วก็จะเพิ่มขึ้นมาตามกฎหมายกำหนด อย่างของอเมริกาก็ 80 มิลลิกรัม หรือบ้านเราก็ 50 มิลลิกรัม เพราะกลุ่มหน้าใหม่จะมีความเสี่ยงสูง ทั้งในความเป็นวัยรุ่น และทักษะการขับขี่ที่ยังไม่มากเท่าคนที่มีประสบการณ์ ระดับแอลกอฮอล์จึงต้องต่างจากค่าปกติ” ผู้จัดการ ศวปถ. อธิบาย

และ ประการที่สี่..สถานประกอบการที่เปิดให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ผับ บาร์ ร้านเหล้า ร้านอาหาร) ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมในการป้องกันอุบัติเหตุ นพ.ธนะพงศ์กล่าวว่า ในหลายประเทศ การจะเปิดร้านประเภทนี้ได้ต้องมีมาตรฐานเคร่งครัดพอสมควร

รวมถึงเรื่องมาตรการป้องกัน “ลูกค้าที่เมาสุรา” แล้วออกไปขับขี่ยานพาหนะด้วย!!!

“ถ้าในต่างประเทศ ร้านค้าประเภทที่มีคนมาดื่ม เรื่องรถจะเป็นเรื่องใหญ่ ต้องมีมาตรการควบคุมเหตุที่เกิดขึ้นจากผู้ที่มาดื่มแล้วเอารถมา อันนี้เป็นเงื่อนไขที่จะต้องเกิดขึ้น มันจะทำให้ร้านประเภทนี้เปิดไม่ง่าย ถ้าเปิดแล้วต้องมีความรับผิดชอบสูง” นพ.ธนะพงศ์ ฝากทิ้งท้าย

นอกจาก 4 ข้อหลักนี้แล้ว ยังมีข้อเสนออื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น ในการดำเนินคดีคนเมาแล้วขับรถไปชนผู้อื่นเสียชีวิต ควรพิจารณาแยกเป็น 2 ข้อหา คือข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย กับข้อหาขับรถในขณะเมาสุรา, การจัดการเครื่องวัดแอลกอฮอล์ประจำด่านตรวจให้เพียงพอ, มาตรการเมาขับจับยึดรถ ควรให้เอกชนเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระของตำรวจในการดูแลรักษารถตลอดช่วงที่ยึดไว้ เป็นต้น

นี่ก็ใกล้ 7 วันอันตราย “เทศกาลสงกรานต์” แล้ว..อะไรทำได้ก็น่าจะ “ทำทันที” เพื่อลดความสูญเสีย!!!

ที่มา : 

© 2018 - www.roadsafetythai.org All rights reserved