กรณีเสี่ยรถเบนซ์ จะเร็วแค่ไหน ..ก็แค่“ขับรถโดยประมาท” ถูกต้องแล้วหรือ?  


19 พ.ย. 2561 2257 แผนงาน : ศวปถ.& มนป.   


กรณีเสี่ยรถเบนซ์ จะเร็วแค่ไหน ..ก็แค่“ขับรถโดยประมาท” ถูกต้องแล้วหรือ?

"...เหตุการณ์นี้ ได้เกิดคำถามต่อเนื่องที่สำคัญว่า ทำไมอุบัติเหตุทางถนนที่รุนแรงแบบนี้ จึงถูกเหมารวมเพียง “ขับรถโดยประมาท.. ” ทั้งๆ ที่การขับรถด้วยความเร็วสูงในช่องทางซ้าย ตามที่ปรากฎในคลิปชี้ให้เห็นว่าเป็นการขับรถที่ “อันตราย” กับผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นๆ..."

จากเหตุการณ์สะเทือนใจของสังคม กรณีที่คนขับรถเบนซ์ ด้วยความเร็วสูง พุ่งชนท้ายรถฟอร์ด ทำให้เกิดเพลิงรุกไหม้และเป็นเหตุให้นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทั้ง 2 คนเสียชีวิตที่จุดเกิดเหตุ โดยภาพจากคลิปของรถที่ขับตามมา ชี้ให้เห็นว่ารถเบนซ์ขับด้วยความเร็วสูงพุ่งชนท้ายโดยไม่ได้มีการเบรก และคาดประมาณความเร็วมากกว่า 150 กม/ชม.

ภายหลังเหตุการณ์ สิ่งที่ตามมา คือข้อสงสัยและคำถามมากมาย ของคนในสังคมถึงกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการรวบรวมหลักฐานประกอบสำนวนคดีที่รัดกุมและทันท่วงที ตั้งแต่ การตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ และสารเสพติด การตรวจสภาพและอุปกรณ์ในตัวรถโดยละเอียดเช่น ความเร็วขณะชน ภาพจากกล้องวงจรปิดในตัวรถ หรือ กล้องวงจรปิดในเส้นทางที่รถวิ่งผ่านเพื่อคำนวณความเร็วและพฤติกรรมการขับรถ (ถ้ามี) ทำให้เกิดความคลางแคลงใจว่าคดีนี้ จากกลายเป็นเพียงคดีอุบัติเหตุทางถนนทั่วๆ ไป ที่สุดท้ายสรุปเพียง “ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย” 

เหตุการณ์นี้ ได้เกิดคำถามต่อเนื่องที่สำคัญว่า ทำไมอุบัติเหตุทางถนนที่รุนแรงแบบนี้ จึงถูกเหมารวมเพียง “ขับรถโดยประมาท.. ” ทั้งๆ ที่การขับรถด้วยความเร็วสูงในช่องทางซ้าย ตามที่ปรากฎในคลิปชี้ให้เห็นว่าเป็นการขับรถที่ “อันตราย” กับผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นๆ

ในทางสากล การขับรถที่อันตราย เช่น ความเร็วสูง ฝ่าสัญญาณไฟ ดื่ม/เมาสุรา จะถือว่าเป็นการขับรถอันตราย ไม่ใช่เพียงประมาท และถ้าส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต จะมีบทลงโทษที่รุนแรงเช่นเดียวกับ “เจตนา”

กรณีตัวอย่าง ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งก่อนหน้านี้ จะประสบปัญหาผู้ขับขี่มีพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นอันตราย เช่น ดื่ม/เมาขับ หรือขับฝ่าสัญญาณไฟ จนเกิดกระแสสังคมและเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อแยกเรื่อง “ประมาท” หรือ “เจตนา” (negligent or crime of intent) เพราะถ้ายังคงตามกฎหมายเดิม พฤติกรรมเหล่านี้ จะถูกระบุว่าเป็นความประมาท มีบทลงโทษจำคุกสูงสุด 5 ปีปรับไม่เกิน 5 แสนเยน แต่ถ้าชี้ว่าเป็น "Dangerous Driving Resulting in Deaths and Injuries" หรือ crime of intent โทษจะสูงถึง 20 ปี ถ้ามีการเสียชีวิต ซึ่งกรณีที่ถือว่าเป็นการ “ขับรถอันตราย” ได้แก่

(1) ขับขี่ที่ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยความเร็วสูง (2) ขับแซงอย่างน่ากลัว หรือขับรถจี้กดดันคันหน้า (3) การขับขี่ที่ได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์และยา (4) ไม่มีทักษะการขับขี่ (5) ฝ่าสัญญาณไฟแดง .. ซึ่งภายหลังจากประเทศญี่ปุ่น มีปรับแก้กฎหมายเมื่อ ค.ศ. 2001 พบว่าหลังจากนั้นความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะอุบัติเหตุจากเมาแล้วขับ จากปี ค.ศ. 2001-2010 ลดลงจาก 25,400 ราย เหลือเพียง 5,553 ราย หรือลดลงถึง 78.1% ส่วนจำนวน ผู้เสียชีวิตจากการเมาแล้วขับ ก็ลดลงจาก 1,191 ราย เหลือเพียง 287 ราย หรือลดลงถึง 75.9%

ความสูญเสียที่สำคัญในครั้งนี้ นอกจากจะส่งผลให้เกิดกระบวนการดำเนินคดีที่บริสุทธิ์ยุติธรรมเพื่อเยียวยาครอบครัวเครือญาติของทั้ง 2 คนแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการสำหรับคนในสังคม คือ ได้ทำให้มีการ “ยกระดับมาตรฐานกระบวนการยุติธรรม” ได้แก่

1) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำหนดให้มี “ระเบียบปฎิบัติพื้นฐาน” สำหรับพนักงานสอบสวน ที่จะต้องรวบรวมหลักฐานประกอบการดำเนินคดีอุบัติเหตุจราจรที่รวดเร็วรัดกุมและเป็นมาตรฐานเท่าเทียมกันในทุกคดี โดยเฉพาะ การตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์และสารเสพติดผู้ขับขี่ทั้งสองฝ่ายทันที ในกรณีอุบัติเหตุที่มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัส การไม่เคลื่อนย้ายและเก็บรวบรวมหลักฐานสำคัญ ณ จุดเกิดเหตุได้อย่างครอบคลุม ฯลฯ

2) ทบทวนและแก้ไข พรบ.จราจรทางบกฯ โดยกำหนดให้มีการระบุพฤติกรรม “การขับรถที่อันตราย” แยกออกจาก “ขับรถโดยประมาท” ให้ชัดเจนเช่นเดียวกับสากล พร้อมทั้งมีบทลงโทษที่รุนแรงกว่าคดีขับรถโดยประมาท เพื่อป้องปรามผู้ขับขี่ที่ยังคงมีพฤติกรรมขับรถอันตราย (เพราะนักขับกลุ่มนี้ประเมินว่า เมื่อเกิดเหตุ บทลงโทษก็เพียง ขับรถประมาท)

3) เร่งพัฒนาระบบข้อมูลประวัติความผิดซ้ำ (ประวัติคดีจราจร และ ประวัติการถูกจับปรับความผิดจราจรต่างๆ) เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินคดีเพิ่มบทลงโทษให้รุนแรงขึ้นตามลำดับขั้น เพราะพฤติกรรมเสี่ยงในการขับรถโดยประมาท มักจะพบว่าไม่ใช่การกระทำความผิดครั้งแรก

4) เพิ่มมาตรการตรวจจับผู้ขับขี่มีมีพฤติกรรมขับรถอันตรายบนท้องถนนให้สามารถป้องปรามผู้กระทำความผิด เช่น กรณีขับรถเร็วอันตราย ถ้ามีด่านตรวจจับความเร็ว ก็จะช่วยสกัดได้

5) ส่งเสริมให้เกิดบรรทัดฐานองค์กร และ สังคม (Norm) ที่จะไม่ยอมให้มีพฤติกรรมขับรถที่อันตราย และส่งเสริมให้ผู้ใช้รถใช้ถนน ช่วยเฝ้าระวังและแจ้งเหตุผ่านช่องทางต่างๆ เมื่อพบผู้ขับขี่อันตรายบนถนน หรือ หน่วยงานองค์กร ที่มีบุคลากรกระทำความผิดจากการขับขี่อันตราย ก็จะมีมาตรการองค์กร เช่น บทลงโทษมาเสริมอีกทางหนึ่ง (เช่น กรณีเมาขับชนคนบาดเจ็บ ที่ญี่ปุ่น องค์กรต้นสังกัดจะมีบทลงโทษถึงให้ออกจากงาน)

มีการพูดถึง .. ขอให้เหตุการณ์ความสูญเสียในครั้งนี้ เป็น “ครั้งสุดท้าย” ของสังคม แต่ความตั้งใจนี้จะเป็นเรื่องจริงได้ ก็ต้องช่วยกันผลักดันให้มี กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่ได้มาตรฐานและเป็นธรรม ควบคู่ไปกับการสร้างบรรทัดฐาน (Norm) ของสังคม ที่จะไม่ยอมให้มีผู้ขับขี่ที่อันตราย มาอยู่บนท้องถนนและสร้างความสูญเสียให้กับใครๆ ในสังคมของเรา

ที่มา : 

© 2018 - www.roadsafetythai.org All rights reserved