PPT เวทีเสวนาวิชาการ ศวปถ. ครั้งที่ 1/57

PPT เวทีเสวนาวิชาการ ศวปถ. ครั้งที่ 1/57


26 พ.ย. 2561 1329 แผนงาน : ศวปถ.& มนป.


โครงการเวทีเสวนาวิชาการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 1 ประจำปี 2557

 “ยกเครื่องรถโดยสารสาธารณะไทย ด้วยระบบการประกันภัยและชดเชยเยียวยา”

ระหว่างวันที่ 2-3 ธันวาคม 2557 ณ โรงแรม เซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพ

 

ความเป็นมา

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประมาณการอัตราการเสียชีวิตของประเทศไทยจากอุบัติเหตุทางถนน ในปี 2010 สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากประเทศ Niue และสาธารณรัฐโดมินิกัน สอดคล้องกับผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่ระบุว่าปี 2008 ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศนามิเบีย

หากพิจารณาข้อมูลมรณบัตรของประเทศไทย ปี 2543-2552 พบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2546 แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มมีการนำข้อมูล
มรณบัตรมาตรวจทานกับหนังสือรับรองการตายในปี 2553 ตัวเลขผู้เสียชีวิตกลับเพิ่มสูงขึ้นจาก 9,490 คน เป็น 13,766 คน หรือคิดเป็นอัตราจากร้อยละ 15 เพิ่มเป็นร้อยละ 21.61 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยอุบัติเหตุที่เกิดกับรถโดยสารสาธารณะ เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตและความรุนแรงเพิ่มสูงขึ้น และเมื่อเกิดอุบัติเหตุกับรถโดยสารสาธารณะทั้งประจำทางและไม่ประจำทางในแต่ละครั้ง ผลกระทบที่เกิดขึ้น นอกจากจะสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสารผลกระทบดังกล่าวยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นในภาพรวมของระบบขนส่งสาธารณะในประเทศไทย

ภาพรวมสถานการณ์ที่ผ่านมา ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในรอบ 1 ปี (ตุลาคม 2555 – กันยายน  2556) มีจำนวนอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะทั้งสิ้น 4,230 ครั้ง แบ่งเป็น รถโดยสารขนาดใหญ่ 829 ครั้ง และรถโดยสารขนาดเล็กมากถึง 3,401 ครั้ง หรือเฉลี่ย 11.5 ครั้ง/วัน และจากการเก็บรวบรวมจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน พบว่า มีผู้เสียชีวิตเนื่องด้วยอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะจำนวน 160 คน หรือเฉลี่ย แต่ละเดือนมีผู้เสียชีวิตมากถึง 13 ราย และอีก 1,923 รายได้รับบาดเจ็บที่ต้องได้รับการดูแลรักษาและชดเชยเยียวยาจากอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ จากหน่วยงานที่รับผิดชอบ

ปัจจุบัน ระบบการชดเชยเยียวยาผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะของไทย ยังพบปัญหาและอุปสรรคหลายประการ อาทิเช่น การขาดความรู้เรื่องสิทธิของผู้โดยสารที่ประสบเหตุ การชดเชยเยียวยาที่ไม่เป็นธรรมจากบริษัทประกันภัย และผู้ประกอบการขนส่งรถโดยสารสาธารณะ รวมถึงการขาดคำแนะนำในกรณีที่เป็นคดีความฟ้องร้องในชั้นศาล และประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับการพิจารณา คือ การชดเชยเยียวยายังไม่มีความเหมาะสมทั้งในเรื่องของค่ารักษาพยาบาล ค่าสินไหมทดแทนการขาดรายได้ และค่าชดเชยอื่นๆ

จากประเด็นปัญหาดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า ระบบประกันภัยอุบัติเหตุในปัจจุบันควรได้รับการแก้ไขให้สอดคล้องและครอบคลุมสิทธิของผู้ประสบเหตุอย่างเร่งด่วน ทั้งในส่วนของประกันภัยภาคบังคับและภาคสมัครใจ ตลอดจน การยกระดับบทบาทของบริษัทประกันภัยและกลไกการเชื่อมโยงความรับผิดชอบของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เพื่อช่วยบรรเทาความสูญเสียทั้งร่างกายและทรัพย์สินของผู้ประสบเหตุจากรถโดยสารสาธารณะซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้น หากได้รับการป้องกันก่อนเกิดเหตุ

ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และ สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดเวทีเสวนาวิชาการ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 1 ประจำปี 2557 ภายใต้หัวข้อ “ยกเครื่องรถโดยสารสาธารณะไทย ด้วยระบบการประกันภัยและชดเชยเยียวยา” ระหว่างวันที่ 2-3 ธันวาคม 2557 โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อสะท้อนปัญหาระบบการประกันภัยและการชดเชยเยียวยาของผู้ประสบเหตุจากรถโดยสารสาธารณะทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง ให้กับภาครัฐและหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องได้ทราบความตึงเครียดของสถานการณ์ในปัจจุบันของผู้ได้รับผลกระทบ พร้อมข้อเสนอและมาตรการแก้ไขที่ได้จากการศึกษาวิจัย โดยมุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายของกระทรวง ทบวง กรม ภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจน ต้องการให้ข้อมูล องค์ความรู้ กระตุ้นผู้ที่ได้รับผลกระทบ และประชาชนทั่วไป ทราบถึงสิทธิความปลอดภัยของตนเองเมื่อใช้บริการรถโดยสารสาธารณะอันจะเป็นรากฐานสำคัญของการเรียกร้องให้เกิดมาตรฐานความปลอดภัยของระบบรถโดยสารสาธารณะอย่างยั่งยืน

กำหนดการวันที่ 3 ธันวาคม 2557

9.00 – 11.30 น.

การนำเสนอผลงานวิชาการ “อุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ : ผลกระทบจากระบบประกันภัย และการชดเชยเยียวยา”

โดย   1. ศาสตราจารย์ ดร.อัมมาร สยามวาลา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

         2. ดร.สุเมธ องกิตติกุล  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย 

         3. คุณสวนีย์ ฉ่ำเฉลียว  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 

 

ประธาน                   คุณอนันต์ วงศ์เบญจรัตน์ กรมการขนส่งทางบก

ผู้อภิปราย              1.ศาสตราจารย์ นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี

                              2.คุณสารี อ๋องสมหวัง  เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

ผู้ดำเนินรายการ    คุณอภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์

11.30 – 12.00 น.

วิสัยทัศน์/ทิศทาง “การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะไทย”

โดย คุณธีระพงษ์ รอดประเสริฐ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก

       - คำกล่าววิสัยทัศน์และทิศทาง 

       - PPT นำเสนอบนเวที 

12.00 – 13.00 น.

พักรับประทานอาหารกลางวัน

13.00 – 13.07 น.

VTR นำเสนอสถานการณ์ปัญหาความไม่ปลอดภัยของรถทัศนาจรสำหรับสถานศึกษา 

13.07 – 14.00 น.

การนำเสนอผลงานวิชาการ ช่วงที่ 1“การจัดทำมาตรฐานความปลอดภัยรถทัศนาจรที่เหมาะสมกับสถานศึกษา”

โดย  รองศาสตราจารย์ ดร.วัฒนวงศ์ รัตนวราห  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 

14.00 – 15.00 น.

การนำเสนอผลงานวิชาการ ช่วงที่ 2 “การทำสัญญาจ้างรถทัศนาจรอย่างไรให้ปลอดภัย”

โดย คุณเฉลิมพงษ์  กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 

 

ประธาน                   ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ

ผู้อภิปราย                1.ศาสตราจารย์ นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี

                             2.ศาสตราจารย์ ดร.พิชัย ธานีรณานนท์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 

                                   VTR ความปลอดภัยการทดสอบรถทัศนาจรต่างประเทศ 

ผู้ดำเนินรายการ      คุณอภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์

15.00 – 16.00 น.

เสวนาวิชาการ “การจัดการรถทัศนาจรที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยสำหรับสถานศึกษา”

โดย   1. คุณวุฒิชาติ กัลยาณมิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.)

         2. คุณเสมอแข พัวภูมิเจริญ โรงเรียนรุ่งอรุณ

ผู้ดำเนินรายการ คุณอภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์

16.00 – 16.30 น.

สรุปผลเวทีเสวนา “ยกเครื่องรถโดยสารสาธารณะไทย ด้วยระบบประกันภัยและการชดเชยเยียวยา” / ปิดการประชุม

โดย นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์  ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน

© 2018 - www.roadsafetythai.org All rights reserved