วิเคราะห์ เบนท์ลีย์ ชน ปาเจโร่ สาเหตุไม่ตกทางด่วน 3 วิฯ ชี้เป็น-ตาย  


12 ม.ค. 2566 2893 แผนงาน : ศวปถ.& มนป.   


เชื่อว่าทุกคนที่เห็นคลิป กรณีรถยนต์สุดหรู เบนท์ลีย์ ขับมาด้วยความเร็วสูง แซงซ้าย ก่อนจะเปลี่ยนเลนกะทันหัน เข้าเลนกลาง ไปชนกับรถยนต์ SUV มิซูบิชิ “ปาเจโร่” ที่ขับอยู่เลนกลาง จากนั้น ปาเจโร่ก็เสียหลักออกขวา ถูกรถที่ตามมาชนอีกครั้ง ในขณะที่เบนท์ลีย์ก็เสียหลักไปชนขอบทางซ้าย อย่างที่มีการนำเสนอข่าวไป โดยมีผู้บาดเจ็บ 6 คน (ในรถ 3 คัน) หนึ่งในนี้มีเด็ก 4 ขวบรวมอยู่ด้วย

ขณะที่คนขับรถหรู ปฏิเสธที่จะเป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์ เพราะอ้างว่าเจ็บหน้าอก โดยตำรวจระบุในเวลาต่อมา กลัวแรงลมเป่าไม่พอ เครื่องไม่เสถียร จึงใช้วิธีการเจาะเลือดแทน ซึ่งผู้ขับขี่รถยนต์หรูก็ยอม...

สถิติอุบัติเหตุบนทางด่วน 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ตรวจสอบข้อมูล สถิติอุบัติเหตุบนทางด่วน 8 แห่ง และทางหลวงพิเศษ เลขที่ 37 จากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (ข้อมูลในปีงบประมาณ 2565 เริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่ พ.ค. 64-ต.ค. 65) พบว่า สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ มากที่สุด มาจากการเปลี่ยนเลนกะทันหัน 163 ครั้ง (24.4%), ขับรถเร็ว 120 ครั้ง (18%), ขับรถกระชั้นชิด 116 ครั้ง (17.4%), หลับใน 63 ครั้ง (9.4%), ยางแตก 38 ครั้ง (5.4) เบรกขัดข้อง 21 ครั้ง (3.1%), ละสายตาจากการขับขี่ 21 ครั้ง (3.1%) และอื่นๆ

ส่วนทางด่วนที่เกิดอุบัติเหตุสูง 3 อันดับแรก คือ ศรีรัช 167 ครั้ง, บางพลี-สุขสวัสดิ์ 129 ครั้ง, เฉลิมมหานคร 118 ครั้ง ส่วนช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยที่สุด คือ เวลา 10.00-10.59 น. จำนวน 45 ครั้ง เวลา 14.00-14.59 น. จำนวน 42 ครั้ง และเวลา 13.00 -13.59 น. จำนวน 39 ครั้ง

ขณะที่ คนบาดเจ็บและเสียชีวิตในรอบ 8 เดือนที่เก็บข้อมูล พบว่า มีผู้บาดเจ็บ 268 ราย เสียชีวิต 13 ราย

วิเคราะห์ เบนท์ลีย์ ชน ปาเจโร่ สาเหตุไม่ตกทางด่วน 3 วิฯ ชี้เป็น-ตาย (คลิป)

วิเคราะห์กายภาพถนน รถ “ปาเจโร่” เกือบตกทางด่วน!

ขณะเดียวกัน ทีมข่าวฯ ยังได้พูดคุยกับ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวถึงประเด็นรถเบนท์ลีย์ ชน SUV บนทางด่วน ว่า “ทางด่วน” คือ เส้นทางที่ถูกออกแบบเพื่อควบคุมประเภทรถ เพราะรถบนทางด่วนเป็นรถที่วิ่งด้วยความเร็ว จึงไม่ให้มีรถมอเตอร์ไซค์มาวิ่งปะปน ไม่มีรถช้ามาปน ซึ่งตามกฎหมาย ทางด่วนถูกออกแบบให้รถวิ่งอยู่ที่ประมาณ 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง ดังนั้น หากมองด้านกายภาพของถนน จะแบ่งออกเป็น 2 อย่างคือ

แบริเออร์ : กั้นตกทางด่วน ถูกออกแบบมาที่ความเร็ว 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ผู้จัดการ ศวปถ. ให้ข้อมูลว่า ด้านกายภาพทางด่วนจะสัมพันธ์กับอุปกรณ์บนทางด่วน โดย “แบริเออร์” ที่ใช้ป้องกันตกทางด่วน ถูกออกแบบมาสำหรับความเร็ว 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่ง “ทางด่วน” จะมีการก่อสร้างทางขึ้น-ลงในเขตชุมชน ดังนั้น จึงอิงกับกฎหมายความเร็วในเขตเมือง แต่ตอนนี้กฎหมายล่าสุด อนุโลมให้ทางด่วนที่เป็นทางยกระดับ ก็จะวิ่งได้ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ทางวิ่งบนพื้นราบ ได้ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ดีไซน์จริงๆ คือ 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง”

หากถอดบทเรียนจากกรณี “เบนท์ลีย์” ชน “ปาเจโร่” เขาถูกชนท้าย ซึ่งขณะนั้นผู้ขับปาเจโร่บอกเลยว่าขับไม่เร็วมาก อยู่ในระดับ 80-90 ด้วยเหตุนี้ รถเขาถึงไม่ตกลงมาจากทางด่วน ประจวบกับมีรถขับตามหลังมาชน ทำให้รถเขาเหวี่ยงกลับเข้ามา

สมมติว่า ปาเจโร่ วิ่งมากกว่า 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง หากโดนชนจากด้านหลังลักษณะนี้ ก็มีโอกาสรถเหินข้ามแบริเออร์ตกทางด่วนได้...อย่างไรก็ตาม จะตกลงมาหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับมุมที่ชนด้วย

วิเคราะห์ เบนท์ลีย์ ชน ปาเจโร่ สาเหตุไม่ตกทางด่วน 3 วิฯ ชี้เป็น-ตาย (คลิป)

แบริเออร์ กับปัญหา ป้องกันตกทางด่วน

สำหรับปัญหาด้าน แบริเออร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันอุบัติเหตุ ระบุว่า มี 2 จุดที่ต้องทบทวน คือ 1. ถ้ากฎหมายอนุญาตให้ขับเร็วได้มากขึ้น แบริเออร์ ก็ต้องอัปมากขึ้น เพราะของเดิมถูกออกแบบ มาที่ 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถ้าขับเร็วมากกว่านั้น ก็มีโอกาสชนแล้วปีนตกทางด่วนได้

2. แบริเออร์ ในจุดอันตราย แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

แบบที่ 1 ในจุดเข้าโค้ง หากเข้าโค้งด้วยความเร็วก็มีโอกาสชนแล้วรถปีนตกได้

แบบที่ 2 Gore Area (จุดทางแยกตัว Y) โดยรถที่จะเกิดอุบัติเหตุ คือ คนที่ขับแล้วไม่แน่ใจว่าจะไปเส้นทางไหน ฉะนั้น ในทางวิศวกรรม จึงมีการออกแบบในลักษณะ Crash Cussion เราเห็นเป็นสปริง เวลาชนก็จะดูดซับแรงกระแทก ฉะนั้น พอเกิดอุบัติเหตุจะไม่ค่อยเสียชีวิต และรถก็จะไม่ตกด้วย

ซึ่งเคสแบบนี้ เคยเกิดขึ้นหลายปีแล้ว จากนั้น ทาง กทม. จึงทำให้มีการทยอยติดในหลายจุดเสี่ยง

วิเคราะห์ เบนท์ลีย์ ชน ปาเจโร่ สาเหตุไม่ตกทางด่วน 3 วิฯ ชี้เป็น-ตาย (คลิป)

ไหล่ทางแคบ : ระวังการแซงไหล่ทาง หรือรถจอดเสีย

ประเด็นต่อมา ที่ นพ.ธนะพงศ์ กล่าวถึงคือเรื่อง “ไหล่ทาง” ด้านขวา ไม่มี ขณะที่ไหล่งทางด้านซ้าย ที่มีขนาดควางกว้างที่ 1.5- 2 เมตร เท่านั้น ซึ่งถือว่า “แคบ” ถ้าเห็นไหล่ทางบนทางหลวงทั่วไป จะกว้าง ระหว่าง 2 - 2.5 เมตร ฉะนั้น เขาจึงพยายามเตือนเรื่องการแซงไหล่ทาง ถ้าสมมติว่ามีรถจอดไหล่ทาง หรือรถเสีย มีคนออกมายืน ก็มีโอกาสที่จะถูกเฉี่ยวชนได้ ซึ่งก็มีเคสถูกชนและตกทางด่วนมาแล้ว

วิเคราะห์ เบนท์ลีย์ ชน ปาเจโร่ สาเหตุไม่ตกทางด่วน 3 วิฯ ชี้เป็น-ตาย (คลิป)

วิเคราะห์สาเหตุ รถชน ขับเร็ว เปลี่ยนช่องทางกะทันหัน

“ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับเคส เบนท์ลีย์ ชนปาเจโร่ นั้น ปัญหามาจากการขับขี่ด้วยความเร็ว และเปลี่ยนช่องจราจรกะทันหัน ซึ่งปกติแล้วรถที่วิ่งบนทางด่วน จะเลือกวิ่งที่เลนกลาง เพราะทางด่วนจะมีจุดลงอยู่ตลอดทาง ซึ่ง ปาเจโร่ ก็วิ่งแบบนั้น ถือว่าถูกแล้ว ฉะนั้น รถบางคันที่เลือกแซงซ้ายก็มีโอกาสที่จะมาเจอรถที่วิ่งอยู่ตรงกลาง ที่วิ่ง 80-90 กิโลเมตร/ชั่วโมง พอชน แล้วรถกระเด็นไปขวา ก็ไม่มีไหล่ทางขวา เพื่อให้รถหักกลับเข้ามาเลย” ผู้จัดการ ศวปถ. กล่าวและว่า

สำหรับคนที่วิ่งขวา หากเราติดตามความเห็นในโลกโซเชียลมีเดีย เขาจะอธิบายว่า เขาก็ทำตามกฎหมาย เพราะกฎหมายให้วิ่งได้แค่ 90-100 กิโลเมตร ส่วนคนที่ไปต่อว่าเขาว่า ขับแช่ขวา ก็ขับมาด้วยความเร็ว ซึ่งความเป็นจริง ถ้าจะวิ่งแบบนั้น ก็แนะนำว่าให้อยู่เลนกลาง หรือซ้าย ซึ่งรถที่มาด้วยความเร็ว หากขวาวิ่งไม่ได้ เขาก็ต้องออกซ้าย

การออกซ้าย ตัดเข้ามาขวาเลย คือ ความเสี่ยงบนถนน เพราะต้องตัด 2 เลน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นกับเลนขวา เมื่อเจอเหตุการณ์ตรงหน้าก็มีการเบรกชะลอ แต่ก็ไม่ทันก็ทำให้ชนกันอีก 1 คัน

วิเคราะห์ เบนท์ลีย์ ชน ปาเจโร่ สาเหตุไม่ตกทางด่วน 3 วิฯ ชี้เป็น-ตาย (คลิป)

ปัญหา “พฤติกรรมการขับ” ไม่เว้นระยะป้องกันอุบัติเหตุ

หมอจิ๋น กล่าวต่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นและต้องติดตาม คือ นอกจากเรื่องความเร็ว และกายภาพของถนนแล้ว ยังต้องติดตามถึง “พฤติกรรมการขับ” คือ ขับไม่เว้นระยะ ซึ่งความจริงการขับต้องมีการเว้นระยะ 3 วินาที ซึ่งการนับวินาที แบ่งเป็น ดังนี้

1 วินาที : ใช้สำหรับสมองตัดสินใจส่งข้อมูลมาให้เท้าแตะเบรก (บางคนใช้เวลามากกว่านั้นเช่น 1.5 วินาที ซึ่งหากดื่มมาด้วย อาจจะใช้เวลาถึง 2 วินาที)

วินาทีที่ 2-3 : ใช้สำหรับ ระยะในการแตะเบรก และเบี่ยงหลบ

1 วินาที ในความเร็ว 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง รถจะเคลื่อนตัว 25 เมตร
1 วินาที ในความเร็ว 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง รถจะเคลื่อนตัว 33 เมตร

“บางคนพูดว่า การเว้นระยะ 3 วิฯ ห่างกันเป็นโยชน์ ซึ่งตรงนี้คือการพูดในเชิงเซฟตี้ แต่ในทางปฏิบัติ ก็จะอนุโลมที่ 1-2 วิฯ ฉะนั้น 2 วิฯ จะห่างถึง 50 เมตร แต่ระยะที่เผื่อไว้ ก็น่าจะที่ความห่าง 30-40 เมตร เป็นอย่างน้อย เผื่อคันหน้ามีเหตุฉุกเฉิน เช่น ยางระเบิด ของตก คันหลังที่ตามมาจะสามารถแตะเบรก หรือเบี่ยงหลบได้ทัน เพราะจะมีเวลาเผื่อให้ตัดสินใจ แต่ในความเป็นจริงบ้านเราจะมีพฤติกรรมจี้”

ผู้จัดการ ศวปถ. อธิบายว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะการเรียนรู้จากการขับบนพื้นราบ เพราะหากเว้นระยะมากไป ก็จะเจอคันอื่นเข้ามาแทรก ดังนั้น จะมีความรู้สึกว่าโดนคนอื่นเอาเปรียบ ฉะนั้น พฤติกรรมการขับ จึงต้องจี้คันหน้า เพื่อไม่ให้คันอื่นมาแทรก

ผู้เชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุบนท้องถนน แนะนำว่า การขับรถบนทางด่วน จำเป็นต้องวางแผนให้ดี และสังเกตป้ายก่อนจะลงทางด่วน

ก่อนลงทางด่วน จะมีป้ายแจ้งเตือนล่วงหน้า 2 ป้าย ป้ายแรกจะห่างประมาณ 1.-5-2 กิโลเมตร และป้ายที่ 2 จะห่างทางลง 1 กิโลเมตร

สมมติว่าเป็นการลงที่พระราม 9 ป้ายแรก จะเขียนว่า ข้างหน้า คือ ทางแยกพระราม 9 ส่วนป้ายที่ 2 จะเขียนว่า ทางออกพระราม 9 อีก 1 กิโลเมตร

วิเคราะห์ เบนท์ลีย์ ชน ปาเจโร่ สาเหตุไม่ตกทางด่วน 3 วิฯ ชี้เป็น-ตาย (คลิป)

การที่เราเห็นป้ายแรก ก็ควรที่จะชะลอความเร็ว รถที่อยู่เลนขวา ก็ควรจะเข้าเลนกลางก่อน เพราะเหลืออีก 2 กิโลเมตร แต่เมื่อเจอป้ายที่ 2 ทางออก ก็ควรขับอยู่เลนกลาง หรือเปลี่ยนมาเลนซ้าย เพราะทางออกอยู่ซ้าย

นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า ในความเป็นจริง เห็นป้ายแรก ก็จะยังอยู่เลนขวาอยู่ เพราะคิดว่าต้องมาต่อคิว ซึ่งปกติก็จะมีรถใหญ่วิ่งด้วย แต่การวิ่งเลนขวา แล้วมาตัดซ้ายสุด คือ ความเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย เพราะเป็นวิ่งตัด 2 เลน มีโอกาสที่จะเกิดการเฉี่ยวชน 

“เหตุการณ์ครั้งนี้ ถือว่ายังดีที่ไม่มีคนเสียชีวิต เชื่อว่าส่วนหนึ่งมาจากอุปกรณ์เซฟตี้ ไม่ทราบว่าเด็กที่นั่งในรถมี “คาร์ซีต” หรือไม่ แต่เชื่อว่าน่าจะ “คาดเข็มขัดนิรภัย” พอเกิดเหตุ ร่างจึงไม่หลุดออกจากตัวรถ ทำให้รอดชีวิตมาได้ ฉะนั้น จึงอยากให้ทุกคนคาดเข็มขัดนิรภัยไม่ว่าจะนั่งตอนหน้า หรือหลังรถก็ตาม” ผู้จัดการ ศวปถ. กล่าว 

ที่มา: https://www.thairath.co.th/

© 2018 - www.roadsafetythai.org All rights reserved