เด็ก 16 ฝ่าไฟแดงชนคนตาย กับปมดราม่า คัดตัวทีมชาติ สมาคมเทนนิสรู้แล้ว  


30 ม.ค. 2566 6641 แผนงาน : ศวปถ.& มนป.   


กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง สำหรับ คดีเยาวชนอายุ 16 ปี ขับรถยนต์ BMW ฝ่าไฟแดงพุ่งชน นายธนพล แก้วมูล หรือ เต้ อายุ 24 ปี บัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์ เกียรตินิยม ม.เทคโนโลยีสุรนารี ที่กำลังมีอนาคตไกล เสียชีวิต เมื่อเดือนตุลาคม ปีก่อน และทางญาติของผู้สูญเสีย ได้เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 15 ล้าน และต่อมาญาติของเด็กชาย 16 ก็ออกมายอมรับว่าไม่มีเงินจ่าย

เรื่องนี้ โลกโซเชียลฯ กลับมาปลุกกระแสอีกครั้ง เมื่อมีรายงานว่า เด็กชาย 16 รายนี้ ไปคัดเลือกเพื่อคัดตอนนักเทนนิสเยาวชนทีมชาติ อย่างไรก็ตาม ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้มีการตรวจสอบในประเด็นดังกล่าว กับทางสมาคมกีฬาลอนเทนนิสแห่งประเทศไทย ซึ่งทางสมาคมฯ ได้รับทราบแล้ว และรู้สึกกังวลกับการให้ข้อมูล เนื่องจากติดปัญหาเรื่อง “สิทธิเด็ก”

ในส่วนทางด้านคดี ทีมข่าวสอบถามกับ พ.ต.อ.นาวิน ธีระวิทย์ ผู้กำกับ สภ.โพธิ์กลาง พื้นที่เจ้าของคดี ซึ่งผู้กำกับนาวิน บอกกับทีมข่าวว่า คดีนี้ทางตำรวจได้ส่งสำนวนให้กับพนักงานอัยการไปนานแล้ว และคาดว่า อัยการน่าจะส่งฟ้องไปแล้ว และตอนนี้คงอยู่ในขั้นตอนชั้นศาลเยาวชน

โดยในเบื้องต้น คดีหลักคือ ขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย, ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจร, ขับรถไม่มีใบอนุญาต และขับรถไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น

ทั้งนี้ พ.ต.อ.นาวิน กล่าวว่า ตอนที่มีการดำเนินคดีกัน ทางเจ้าหน้าที่ได้มีการเรียกทั้ง 2 ฝ่ายมาเจรจากัน แต่เนื่องจากทางฝั่งผู้สูญเสีย เรียกเงินจำนวนมาก และอีกฝ่ายไม่มีเงินเพียงพอในการเยียวยา คดีนี้จึงไม่จบในส่วนของตำรวจ ด้วยเหตุนี้ เจ้าหน้าที่จึงได้มีการเร่งทำสำนวนส่งให้อัยการดำเนินการตามกฎหมาย

“สิ่งที่ตำรวจทำในเวลานั้น คือ พยายามเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย ส่วนทั้งสองฝ่ายจะตกลงกันได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับทั้งสองฝ่าย เท่าที่จำได้เลย คือฝ่ายผู้ก่อเหตุจะนำเงินไปให้ 3 แสนบาท แต่ฝ่ายผู้สูญเสียไม่รับเงินตรงนั้น ในส่วนคดีอาญา ทางเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายไปแล้ว ส่วนทางแพ่ง ก็ให้ดำเนินการกันต่อ”

ขณะเดียวกัน ทีมข่าวฯ ยังได้พูดคุยกับ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ตั้งข้อสังเกตจากคดีดังกล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของประเทศไทย คือ การบังคับใช้กฎหมายเรื่อง “ใบขับขี่” ซึ่งถือเป็นปัญหา ติดอันดับ 1 ใน 5 ของการกระทำความผิดบนถนน และการ ไม่มีใบขับขี่ ในทางกฎหมายบ้านเรายังเป็นแค่โทษปรับ ซึ่งถือเป็น “ลหุโทษ” หากมีปัญหาโดนตำรวจจับจริงๆ ก็เสียค่าปรับ 1,000 บาท ทำให้คนไม่เกรงกลัวกฎหมาย ขณะเดียวกันใน ต่างประเทศ การไม่มีใบขับขี่ แล้วมาอยู่บนถนน ถือเป็นเรื่องใหญ่ โดยเขาจะจัดอยู่ในประเภท การขับรถอันตราย เช่น เมาขับ ขับฝ่าไฟแดง ขับย้อนศร ขับเร็ว จี้ หรือขับโดยไม่มีใบขับขี่

ควรเพิ่มบทลงโทษ เชื่อมโยง ไปถึงต้นสังกัด

นพ.ธนะพงศ์ ยังกล่าวถึง กรณี การลงโทษจากต้นสังกัด เมื่อคนในสังกัดตัวเองทำผิดกฎหมาย ซึ่งหมอธนะพงศ์ ยกตัวอย่างกรณี นักฟุตบอลชลบุรี FC ที่เมาขับรถชนคนตาย สุดท้าย พอสังคมเรียกร้อง ต้นสังกัดก็ยกเลิกสัญญา

การกระทำดังกล่าว ส่วนตัวมองว่า ถือเป็นความพยายามในการยกระดับมาตรฐานลีกฟุตบอลของไทยให้เทียบเท่ากับต่างประเทศ ซึ่งไม่ว่าประเทศไหน หากนักกีฬาของตนเองไปขับรถชนคนเสียชีวิต จะถูกขับออกจากต้นสังกัดทั้งสิ้น...

กลับมาที่ สมาคมลอนเทนนิส ก็อาจจะถูกตั้งคำถามถึง “ความรับผิดชอบ” ของนักกีฬา ควรถูกกำหนดไว้อย่างไร ข้อกำหนดการรับสมัครนักกีฬา และข้อกำหนดในการลงโทษนักกีฬา อย่างไร หากพบว่ากระทำความผิด

“ในเชิงภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นองค์กรใด หรือ สมาคมใด ควรจะวางหลักเกณฑ์การคัดเลือกนักกีฬา ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมนอกสนาม การละเมิดสังคม หรือ กติกาสังคมด้วย ไม่ได้ดูแค่ฝีมือ หรือ ทักษะเท่านั้น” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว

ที่มา: www.thairath.co.th

© 2018 - www.roadsafetythai.org All rights reserved