โครงการสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ ๑๔

(14th Thailand Road Safety Seminar : Play your part and share the road )

*******************

 

โครงการร่วมระหว่าง   

 

              ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.)

              กระทรวงมหาดไทย

              กระทรวงคมนาคม

              กองทุนเพื่อความปลอดภัยในกำรใช้รถใช้ถนน (กปถ.)

              ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.)

              มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย (มนป.) 

 

ภาคีร่วมจัด   

            

              สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม

              กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน

              กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร

 

ความสำคัญของปัญหา

 

           สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาสำคัญที่สร้างความสูญเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก องค์การสหประชาชาติจึงได้ประกาศให้ปี พ.ศ.๒๕๕๔ - ๒๕๖๓ เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน (Decade of Action for Road Safety) ตามปฏิญญามอสโก และเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญ และผลักดันเรื่องความปลอดภัยทางถนน โดยกำหนดเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ลงร้อยละ ๕๐ ภายในปี ๒๕๖๓ แต่ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก พบว่า ในปัจจุบันการบาดเจ็บทาง ถนนยังคงห่างไกลจากการบรรลุเป่าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal – SDG) ที่ ๓.๖ ที่ตั้งเป้าลดจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนลงครึ่งหนึ่ง นอกจากนี้ จากรายงาน สถานการณ์โลกด้านความปลอดภัยทางถนน ประจำปี ๒๕๖๑ ขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า ประมาณการ ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของไทยปี ๒๕๕๙ มีจำนวน ๒๒,๔๙๑ คน หรือเทียบเท่ากับมีผู้เสียชีวิต ๖๐ คนบน ถนนทุกวัน และผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง ๑๕ ถึง ๒๙ ปี ในจำนวน ผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บดังกล่าวเป็นคนเดินเท้า ผู้ใช้จักรยาน และผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ซึ่งร้อยละ ๗๔ ของ ผู้เสียชีวิตเป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ๒ ล้อ และ ๓ ล้อ ทั้งนี้จำนวนรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยได้เพิ่มอัตราสูงขึ้น จาก ๑๙ ล้านคันเป็น ๒๐ ล้านคันในระยะเวลา ๔ ปี

 

           ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นการจัดการปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างยิ่ง รัฐบาล จึงประกาศให้ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ – ๒๕๖๓ เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทย ภายใต้ กรอบปฏิญญามอสโก และกำหนดให้การสร้างความปลอดภัยทางถนนเป็นนโยบายหลักในการยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน โดยมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนน  และมอบหมายให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เป็นหน่วยงานกลางในการบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย
ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมา เน้นย้ำให้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงาน “ต่อเนื่อง ตลอดทั้งปี” เพื่อสร้างเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัยตามวาระประเทศไทยปลอดภัย (Safety Thailand) โดยนำกลไก “ประชารัฐ” เป็นหลักบูรณาการขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ หน่วยงานหลักยังได้หยิบยกเรื่องความปลอดภัยทางถนนมาเป็นวาระสำคัญ อาทิ กระทรวงคมนาคม กำหนดให้ พ.ศ.๒๕๖๐ เป็น “ปีคมนาคมปลอดภัย” มีนโยบาย มาตรการและการติดตามเพื่อให้ทุกหน่วยงานดำเนินงานด้านนี้อย่างจริงจัง กระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้เรื่องการบาดเจ็บจากการจราจร (road traffic injury: RTI) เป็นวาระสำคัญ พร้อมกำหนด ๔ มาตรการหลักทั้งด้านการจัดการ ด้านข้อมูล ด้านป้องกัน และด้านรักษาพยาบาล โดยเฉพาะด้านการจัดการและด้านข้อมูลที่กำหนดให้กลไกระดับจังหวัดและอำเภอเข้ามาเสริมด้านข้อมูลและการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ (ศปถ.อำเภอ) ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง รวมถึงกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้มีการจัดทำแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๓  ซึ่งมุ่งเน้นด้านการจัดการที่ยั่งยืน การพัฒนาผู้ขับขี่ที่มีคุณภาพ และการลดความรุนแรงของการเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น

 

           ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย (มนป.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนมาอย่างต่อเนื่อง ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งถือเป็นการประสานคนทำงานในระดับปฏิบัติการ จึงกำหนด ให้มีการสัมมนาระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนน ขึ้นทุกๆ ๒ ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีให้ผู้บริหาร นักวิชาการ และผู้ปฏิบัติงานจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ทราบนโยบายของรัฐบาลในการดำเนินงานด้านป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน และมีส่วนร่วมเสนอนโยบายสาธารณะ รวมทั้งแนวทางการบูรณาการในการดำเนินงาน เพื่อให้จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้นำความรู้ แนวทาง และรูปแบบการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ไปเผยแพร่และปฏิบัติให้เหมาะสมกับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง โดยมีความมุ่งหวังที่จะให้เกิดรูปธรรมในการทำงานที่จริงจังและมีประสิทธิภาพ และถือเป็นการเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนได้เห็นถึงปัญหาดังกล่าว การดำเนินการที่ผ่านมามีผู้สนใจเข้าร่วมงานเฉลี่ยครั้งละ ๒,๐๐๐ คน

          ที่มาจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และท้องถิ่น ผลสรุปที่ได้จากแบบสำรวจผู้เข้าร่วมสัมมนา (Poll) ครั้งที่ ๑๓ พบว่าอยากให้เพิ่มการนำเสนอผลวิจัยบนเวที เพิ่มส่วนของผู้กำหนดนโยบายและปฏิบัติการ เพิ่มบทบาทของผู้ประกอบการรถยนต์ เพิ่มสัดส่วนของเด็ก เยาวชน นักเรียนนักศึกษา และเรื่องของการใช้เทคโนโลยี   

           สำหรับปี ๒๕๖๒ นี้ ได้กำหนดให้มีการจัดงานสัมมนาระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ ๑๔ ภายใต้แนวคิด “เดิน ขี่ ขับ ไปกลับปลอดภัย” (14th Thailand Road Safety Seminar: Play your part and share the road) ซึ่งสะท้อนมาจากจำนวนผู้เสียชีวิตที่เป็นกลุ่มผู้ใช้รถใช้ถนนที่มีความเปราะบางสูง อันหมายถึง คนเดินเท้า ผู้ใช้จักรยาน และผู้ขับขี่รถจักรยำนยนต์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงสุดของ ผู้เสียชีวิตบนถนนในประเทศไทย ที่ควรจะได้รับการดูแลเอาใจในมากขึ้น เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตในกลุ่มนี้ลงให้ ได้โดยเร็ว

 

วัตถุประสงค์

 

เพื่อเป็นเวทีให้ผู้บริหาร นักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานจากทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมสัมมนา     

๑. ขับเคลื่อนการทำงานเชิงบูรณาการ โดยร่วมกันจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในประเด็นสำคัญ รวมทั้งการติดตามความก้าวหน้าและผลการดำเนินงานตามข้อเสนอนโยบายที่ผ่านมา

๒. นำเสนอชุดความรู้ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ และเทคนิคที่ได้รับไปพัฒนาให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จในการทำงาน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์เดียวกันในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน

๓. ได้ทราบข้อมูลสถานการณ์ องค์ความรู้ ทิศทางนโยบายระดับสากลและระดับประเทศ ในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจรทางถนน

๔. เกิดภาคีเครือข่ายที่ดำเนินงานด้านอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มยิ่งขึ้น

 

รูปแบบในการนำเสนอ

 

๑. ห้องใหญ่ จะดำเนินการในส่วนของพิธีเปิด/ปิด การมอบรางวัล Prime Minister Road Safety Awards การปาฐกถา การเสวนา อภิปรายหมู่ ในหัวข้อที่เป็นสาระสำคัญ

๒. ห้องย่อย จะแบ่งการนำเสนอหัวข้อสำคัญตามประเด็น ๕ เสาหลัก (5 Pillars) ได้แก่ เสาหลักที่ ๑ การบริหารจัดการ (Road Safety Management) เสาหลักที่ ๒ ถนนปลอดภัย (Safer Roads and Mobility) เสาหลักที่ ๓ ยานพาหนะปลอดภัย (Safer Vehicles) เสาหลักที่ ๔ ผู้ใช้รถใช้ถนนปลอดภัย (Safer Road Users) และเสาหลักที่ ๕ การตอบสนองภายหลังเกิดเหตุ (Post-crash Response) โดยมีเจ้าภาพร่วมจาก ภาคนโยบาย และ ภาคีวิชาการ และภาคประชาสังคม

๓. เวทีกลาง จะเป็นเวที Highlight Stage นำเสนอความรู้และโจทย์สำคัญอื่นๆ ที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน

๔. บูธนิทรรศการ แสดงผลงานและนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน พร้อมนำเสนอผลการประกวดงานวิชาการ

 

ระยะเวลาในการดำเนินการ : ระหว่างวันที่ ๗ - ๘ สิงหาคม ๒๕๖๒

 

สถานที่: ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ

 

กลุ่มเป้าหมาย

 

๑. ผู้เข้าชมนิทรรศการ จำนวน ๑,๕๐๐ คน ประกอบด้วย ผู้เข้าร่วมสัมมนา อาจารย์ นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานด้านความปลอดภัยทางถนนในทุกองค์กร เช่น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายผู้ปกครอง แกนนำเยาวชน เป็นต้น บุคลากร เจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุและความปลอดภัยทั้งจากภาครัฐ เอกชน มูลนิธิ สมาคม และองค์กรภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

๒. ผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาวิชาการ จำนวน ๑,๕๐๐ คน

 

วิธีการดำเนินงาน

 

ขั้นตอนที่ ๑ ขั้นตอนเตรียมการ แต่งตั้งคณะกรรมการการจัดการสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ ๑๔ “เดิน ขี่ ขับ ไปกลับปลอดภัย” (14th Thailand Road Safety Seminar : Play your part and share the road) เพื่อเตรียมการทำงาน ดังนี้

-  งานพิธีการและประธานในพิธี

-  กรอบการทำงานด้านวิชาการ การเตรียมประเด็น เอกสารนำเข้า วิทยากร

-  การบริหารจัดการงานสัมมนา รูปแบบการจัดงานสัมมนา

-  การสื่อสารสาธารณะและการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย

-  และรายละเอียดอื่นๆ เพื่อให้การจัดงานสัมมนาเป็นไปด้วยความมีประสิทธิภาพ

ขั้นตอนที่ ๒ ดำเนินการในวันสัมมนา ประกอบด้วย การประชุมสัมมนา การแสดงผลงานทางวิชาการและนิทรรศการ โดยมีคณะกรรมการในการดำเนินงานแต่ละด้านอำนวยการทำงานและประเมินผลการทำงาน เพื่อปรับปรุงให้การจัดสัมมนาในครั้งนี้บรรลุกรอบวัตถุประสงค์ที่วางไว้

ขั้นตอนที่ ๓ การติดตามผลการสัมมนา สรุปผลการสัมมนา และการประเมินผลการสัมมนา โดยมีคณะกรรมการในการทำงานติดตามประเมินผล และสะท้อนการประเมินผลต่อคณะทำงาน ในส่วน การทำงานด้านวิชาการมีการจัดทำเอกสารสรุปประเด็นสาระสำคัญที่ได้จากเวที เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อน การทำงานในพื้นที่จริงจากการนำเอกสารสรุปสาระสำคัญเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ต่อไป

 

งบประมาณ :   จำนวนงบประมาณทั้งสิ้นประมาณ ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยได้รับการสนับสนุนจาก
                          สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
                          กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.)
                          กระทรวงคมนาคม
                          ภาคเอกชน
                          และค่าลงทะเบียนของผู้เข้าร่วมสัมมนา

 

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

 

          ๑. เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการจัดการปัญหาอุบัติเหตุทางถนน เพื่อก้าวสู่เป้าหมายทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน

          ๒. เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลเชิงวิชาการ ผ่านการนำเสนอนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนจากผลงานวิชาการ บูธนิทรรศการ

          ๓. เกิดการกระตุ้นและสร้างความตื่นตัวของชุมชนในระดับท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการ ป้องกัน แก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน

          ๔. เกิดต้นแบบและแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการทำงานด้านอุบัติเหตุทางถนนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการจัดการกลุ่มที่เป็นผู้มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ คนเดินเท้า และผู้ใช้รถจักรยาน เพื่อให้เกิดการความปลอดภัย และลดอัตราผู้เสียชีวิตบนถนน

          ๕. เกิดการติดตามและขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบาย

 

การประเมินผล

 

๑. จำนวนผู้เข้าร่วมสัมมนามาจากกลุ่มเป้าหมายจากทุกจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

๒. แบบประเมินผลระหว่างการสัมมนา เพื่อแสดงความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมสัมมนา เพื่อทราบ

๒.๑ ระดับบริหารสามารถนำเสนอแนวคิดไปกำหนดกลยุทธ์ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุวัตถุประสงค์

๒.๒ ระดับปฏิบัติสามารถนำรูปแบบที่ได้จากการสัมมนาไปพัฒนา และดำเนินงานให้เหมาะสมกับพื้นที่ได้

๒.๓ ทุกระดับสามารถเชื่อมกรอบการทำงานของตนเองสู่ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน

๓. การประเมินผลความสนใจของผู้เข้าร่วมสัมมนา

๓.๑ กลุ่มหรือหน่วยงานใดมีความสนใจในแต่ละหัวข้ออย่างไร

๓.๒ การแสดงความคิดเห็นในแต่ละหัวข้ออยู่ในระดับใด

๓.๓ แต่ละหน่วยงานเข้าใจบทบาทของการเชื่อมต่องานระหว่างหน่วยงานในการจัดการปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

๔. การเสนอผลงานทางวิชาการที่เป็นนวัตกรรมการทำงาน บูธผลงานนิทรรศการเป็นผลงาน
     ที่ประสบความสำเร็จ และสามารถปฏิบัติตามได้ง่าย และเป็นบทเรียนการทำงานที่เกิดการลงมือทำอย่างจริงจัง